การปลูกฝังพื้นฐานที่ดีของการมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ให้กับเด็กปฐมวัยควบคู่กันไปจะช่วยให้เด็กแต่ละคนสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูง
ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ( IQ) เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดความสามารถทางเชาวน์ปัญญาสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ตามศักยภาพของเด็กขึ้นอยู่กับการได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฐมวัยหากเด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างถูกต้องและเหมาะสมจะถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เชาวน์ปัญญาของเด็กพัฒนาขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ
ตัวอย่างของความสามารถทางเชาวน์ปัญญา
ช่างสังเกต
เป็นความสามารถในการรับรู้คุณลักษณะของสิ่งของ เปรียบเทียบความเหมือนความต่าง การจำแนกสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการเชื่อมโยงและแยกแยะด้วย
ความสามารถในด้านนี้จะช่วยดึงศักยภาพที่มีอยู่ในธรรมชาติในตัวเด็กออกมา
ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
การถ่ายทอดจินตนาการ
เป็นการนำสิ่งที่คิดเชื่อมโยงจากประสบการณ์นำมาถ่ายทอดแสดงออกให้คนอื่นรู้ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะทางด้านภาษาในการสื่อสารที่ถูกต้อง การเรียนรู้ทางสังคมการควบคุมอารมณ์ การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
การเชื่อมโยงเหตุผล
เป็นความสามารถในการเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวซึ่งการเชื่อมโยงเหตุผลนี้จะได้จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นำมาเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผล
การทำงานประสานระหว่างมือและตา
เป็นความสามารถที่อาศัยการทำงานประสานกันของประสาทสัมผัสในการลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การแสดงออกด้านการเรียนรู้ การคิดและใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา
ความฉลาดทางอารมณ์ ( EQ )เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนเองรู้จักควบคุมและแสดงออกอย่างเหมาะสม เข้าใจตนเองและผู้อื่น
สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขความฉลาดทางอารมณ์สามารถพัฒนาได้จากการกระตุ้นอย่างถูกต้องตั้งแต่ช่วงอายุระดับปฐมวัย เด็กปฐมวัยที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขได้ในอนาคต
ตัวอย่างของความฉลาดทางอารมณ์
การรู้จักอารมณ์และควบคุมอารมณ์
เป็นการส่งเสริมให้เด็กสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตนออกมาเป็นคำพูดเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตน ส่งผลให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อโตขึ้น
การเรียนรู้ระเบียบวินัย
เป็นการเรียนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก สอนให้เด็กรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำและทำให้เด็กรู้จักการยอมรับผิด
ความสนุกสนานร่าเริง
ความสุขของเด็กปฐมวัยเป็นความสุขที่ได้จากการเล่นไม่ว่าจะเป็นการเล่นคนเดียวหรือเล่นกับกลุ่มเพื่อนก็ตามเด็กจะรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน เด็กที่มีโอกาสได้เล่นสนุกจะมีจิตใจร่าเริงแจ่มใสมีพื้นฐานอารมณ์ดี
การมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาที่ดี
จะช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีศักยภาพแต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีด้วยเพราะถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจะทำให้เด็กมีการพัฒนาอย่างไม่เต็มศักยภาพการมีทั้งสองสิ่งควบคู่กันจะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคตได้การพัฒนาเด็กปฐมวัยในส่วนของความสามารถทางเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ สามารถบูรณาการผ่านกิจกรรมเสรี (เล่นตามมุม) ด้วยการที่คุณครูปฐมวัยจะต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้คิดวางแผนตัดสินใจเลือกเล่นอย่างอิสระตามความสนใจและความสามารถของเด็กแต่ละคน เช่น มุมบทบาทสมมติ มุมบล็อกมุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมดนตรี เป็นต้น
ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสามารถทางเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ ได้ดังนี้
พัฒนาทักษะทางภาษา คือ การฟัง การพูดบอกอธิบายเรื่องราว
พัฒนาทักษะทางสังคม คือ การปรับตัว การเล่น และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
พัฒนาทักษะทางอารมณ์ คือ การฝึกการรอคอย ฝึกแบ่งปัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ และให้อภัย
พัฒนาทักษะการมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ คือ การเก็บของเล่นเข้าที่เดิม ไม่นำของเล่นของห้องเรียนกลับบ้านการรู้จักดูแลรักษาของเล่นที่ใช้ร่วมกัน
พัฒนาประสาทสัมผัสระหว่างมือและตา คือการเล่นโดยใช้มือหยิบจับสิ่งของจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้ทำงานประสานสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา
การจัดกิจกรรมเสรี (เล่นตามมุม ) ควรมีอุปกรณ์และเครื่องเล่น ดังต่อไปนี้
มุมบทบาทสมมติ
สามารถแบ่งออกได้อีก ได้แก่ มุมบ้าน มุมหมอมุมร้านค้า
มุมบ้าน ควรมีของเล่นจำลองเครื่องใช้ในครัวขนาดเล็ก ชุดรับแขก โต๊ะเครื่องแป้ง เป็นต้น
มุมหมอ ควรมีของเล่นจำลองอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์รักษาผู้ป่วย เช่น หูฟัง เสื้อคลุมคุณหมอ เป็นต้น
มุมร้านค้า ควรมีของเล่นจำลองประกอบการเล่น เช่น เครื่องคิดเลข แบงก์ปลอมเป็นต้น
มุมบล็อก
ควรมีไม้บล็อกและแท่งไม้ที่มีขนาดและรูปทรงต่างกันอย่างหลากหลาย จำนวนตั้งแต่ 50 ชิ้นขึ้นไป
มุมหนังสือ
ควรมีหนังสือนิทาน สมุดภาพ หนังสือภาพที่มีคำหรือประโยคสั้น ๆ
มุมวิทยาศาสตร์
ควรมีวัสดุต่าง ๆ จากธรรมชาติเพื่อให้เด็ก ๆ ได้สังเกตและเรียนรู้ เช่น หิน แร่ เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ และมีเครื่องมือที่ใช้ในการช่วยสังเกต เช่น แว่นขยาย เครื่องมือช่าง เป็นต้น
มุมดนตรี
ควรมีเครื่องให้จังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กลอง เป็นต้น
ในขณะที่เด็กปฐมวัยกำลังทำกิจกรรมเล่นตามมุมตามความสนใจอยู่ ก็เป็นเวลาของคุณครูปฐมวัยที่จะคอยสังเกตพฤติกรรมการเล่นของเด็ก พร้อมทั้งจดบันทึกการพัฒนาเด็กปฐมวัย จดบันทึกพฤติกรรมที่น่าสนใจ เช่น การปรับตัวขณะเล่นร่วมกับเพื่อน ความสนใจในการเล่น การใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับเพื่อน ความรับผิดชอบในการจัดเก็บของเล่น เพื่อการประเมินพัฒนาการเด็ก ดูว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแต่ละด้านอย่างไร โดยคุณครูปฐมวัยควรมีสมุดบันทึก พัฒนาการนักเรียนปฐมวัยติดตัวไว้ เพื่อช่วยให้การจดบันทึกง่ายขึ้น และสามารถนำข้อมูลที่สรุปได้ไปบันทึกลงสมุดรายงานประจำตัวเด็กปฐมวัยหรือสมุดพกปฐมวัยต่อไปได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมที่สุด
หากท่านผู้อ่าน สนใจสั่งซื้อ สมุดบันทึก พัฒนาการนักเรียนปฐมวัย หรือ เกมการศึกษาปฐมวัย สามารถเลือกซื้อสินค้า และสั่งซื้อตามลิงค์ด้านล่างกับทาง รัฐกุล ได้เลยค่ะ