“เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตลอดจนได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง เด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้สอน เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดู การพัฒนาและการให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของการพัฒนาการทุกด้านอย่างเป็นองค์รวม มีคุณภาพและเต็มตามศักยภาพ”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 นั่นหมายความว่าเด็กทุกคนที่เกิดมานั้นย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีความบกพร่องหรือเป็นเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะก็ตาม

การส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

“เด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ” คืออะไร ?

“เด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ” คือ  เด็กปฐมวัยที่มีสภาพร่างกาย สติปัญญา อารมณ์หรือจิตใจที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์  ขณะคลอด หลังคลอด หรือเมื่อเด็กเข้าสู่วัยทารก วัยเตาะแตะ หรือเมื่อเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือมีประสบการณ์สำคัญในชีวิตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำ ให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตและพัฒนาได้ตามศักยภาพที่แท้จริงของตนได้และความแตกต่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ถาวร

“เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มของ “เด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ”

เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ คือ เด็กที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนกับเด็กปกติทั่วไปเนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ซึ่งจำเป็นต้องมีความต้องการจำเป็นพิเศษทางการศึกษาที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเด็กทั่วไป

เด็กกลุ่มเป้าหมายพิเศษมีใครบ้าง

เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีดังนี้

1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น ได้แก่ เด็กที่สูญเสียการเห็นตั้งแต่ระดับเล็กน้อย จนถึงตาบอดสนิท

2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้แก่ เด็กที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับหูตึง น้อยจนถึงหูหนวก

3. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา คือ ความสามารถทางสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย หรือมีข้อจำกัดของทักษะการปรับตัวอีกอย่างน้อย 2 ทักษะจาก 10

4. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ

5. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น บกพร่องด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้ในด้านที่บกพร่องได้ ทั้งที่มีระดับสติปัญญาปกติ

6. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา เช่น มีความบกพร่องในการเปล่งเสียงพูด เช่น เสียงผิดปกติ อัตราความเร็วและจังหวะการพูดผิดปกติ หรือเด็กที่มีความบกพร่อง ในเรื่อง ความเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูด การเขียนหรือระบบสัญลักษณ์อื่นที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งอาจเกี่ยวกับ รูปแบบ เนื้อหาและหน้าที่ของภาษา

7. เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์

8. เด็กออทิสติก

9. เด็กพิการซ้อน ได้แก่ เด็กที่มีสภาพความบกพร่องหรือความพิการมากกว่าหนึ่งประเภทในคนเดียวกัน

สิ่งที่ครูปฐมวัยสามารถทำเพื่อเด็กพิเศษ

สิ่งที่คุณครูปฐมวัยสามารถทำเพื่อเด็กกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษกลุ่มนี้ได้ก็คือพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถที่สุด ไม่ควรเปรียบเทียบเด็กแต่ละคน เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ควรทำความเข้าใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจเด็ก ตลอดจนพยายามสร้างพลังบวกและสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กเสมอ

ปัจจุบันการจัดการศึกษาให้แก่เด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะจะจัดในลักษณะของการจัดการเรียนรวม ซึ่งเป็นลักษณะการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้มีโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติ เพื่อให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมเต็มตามศักยภาพของตนในสภาพแวดล้อมที่ปกติ คุณครูจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือไม่ ล้วนมีความต้องการพื้นฐานก็คือความต้องการในการได้รับการศึกษาเหมือนกันทั้งสิ้น

การจัดประสบการณ์และกิจกรรมสำหรับเด็กพิเศษ

เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน การดูแลให้เด็กในกลุ่มนี้ได้รับการเรียนรู้จะต้องจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีความบกพร่องควบคู่ไปกับการบำบัดฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือ โดยประการสำคัญของการจัดประสบการณ์และจัดกิจกรรมประจำวันสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ คุณครูจะต้องคำนึงถึงระดับความสามารถและลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นอย่างมาก จึงควรศึกษาหาความรู้ พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติของเด็กแต่ละประเภทของความพิการให้ละเอียดถี่ถ้วนเป็นอย่างดี และเลือกใช้เทคนิควิธีการจัดประสบการณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการพิเศษ คุณครูจะต้องใช้สื่อในการสอน และจัดสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองต่อความหลากหลายของความต้องการพิเศษ นอกจากนี้ควรมีการประเมินเพื่อจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพราะหากคุณครูสอนอย่างเดียวแต่ไม่มีการประเมินก็จะไม่มีวันรู้เลยประสบการณ์ที่ให้เด็กไปนั้นได้ผล หรือได้ประสิทธิภาพขนาดไหน และควรใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) หรือโครงการการศึกษาเพื่อปัจเจกบุคคล ซึ่งออกแบบการเรียน ให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยส่วนตัว สอดคล้องกับลักษณะความต้องการพิเศษ  แต่ละระดับ แต่ละประเภท และแต่ละบุคคลด้วย   ซึ่งจะช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้และอยู่ร่วมกับ ผู้อื่นอย่างมีความสุข  

เอกสารการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย

หากสนใจแบบประเมินพัฒนาการเด็กที่ได้มาตรฐาน กรอกและสรุปผลง่าย

สามารถติดต่อได้ที่
โทร 081-6257458 / 089-6911094
Line @rathakun11 Fax 043-340335
Email  rathakun11@gmail.com
รัฐกุล ผู้ช่วยที่ดีที่สุดของครูอนุบาล 


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *