การเตรียมพร้อม…จากน้องอนุบาลสู่พี่ประถม

การเตรียมพร้อม…จากน้องอนุบาลสู่พี่ประถม

สิ่งจำเป็นสำหรับความพร้อมในการเรียนรู้สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยศึกษากับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

         รอยต่อทางการศึกษา คือ จุดเปลี่ยนแปลงทางชั้นเรียนที่นักเรียนทุกคนล้วนต้องเจอเมื่อได้ก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ในระบบโรงเรียนแล้ว เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างระดับชั้นเรียน จากชั้นเรียนอนุบาลสู่ชั้นเรียนประถมศึกษา จากชั้นเรียนประถมศึกษาสู่ชั้นเรียนมัธยมศึกษา เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์สำคัญสำหรับเด็กที่จะเรียนรู้และปรับตัวเพื่อก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้ ทว่าในช่วงปฐมวัยนั้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง มักจะเป็นเรื่องยากเสมอ ฉะนั้น สิ่งสำคัญซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงในรอยต่อของการศึกษานี้จะต้องได้รับการสนับสนุนและการช่วยเหลือที่เหมาะสมจากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะคุณครูปฐมวัยที่จะต้องเตรียมทักษะความพร้อมให้กับเด็กอนุบาลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงความพร้อมอื่น ๆ ที่คุณครูอนุบาลต้องจัดการเพื่อให้ง่ายต่อการเปลี่ยนจากชั้นเรียนอนุบาลไปสู่ชั้นเรียนประถมศึกษาอีกด้วย

             คุณครูอนุบาลจะต้องจัดระบบข้อมูล สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยส่งต่อให้ผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  เพื่อช่วยให้คุณครูผู้สอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ได้มีโอกาสศึกษาและทำความเข้าใจเด็กรายบุคคล ซึ่งจะช่วยเหลือเด็กในการปรับตัวเข้ากับการเรียนรู้ใหม่ได้ดีขึ้น

             คุณครูอนุบาลจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับเด็กปฐมวัย เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น 

             คุณครูอนุบาลจะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัยได้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เกิดการปรับตัวทีละเล็กทีละน้อย

             คุณครูอนุบาลจะต้องจัดเตรียมสื่อ วัสดุอุปกรณ์ ที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้และมีประสบการณ์พื้นฐานที่สอดคล้องกับรอยต่อในการเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เช่น ฝึกการจัดเก็บกระเป๋า โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว และจำลองสถานการณ์การเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้เด็ก ๆ การความคุ้นเคย และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

 ทักษะจำเป็นสำหรับความพร้อมในการเรียนรู้สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยศึกษากับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ทักษะการช่วยเหลือตนเอง

             1.ทักษะการช่วยเหลือตนเอง

             เด็กปฐมวัยจะต้องสามารถใช้ห้องน้ำห้องส้วมได้ด้วยตนเอง แต่งกายได้เอง สามารถช่วยทำความสะอาดได้ และรู้จักร้องขอให้ช่วยเมื่อเกิดความจำเป็น

ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่

             2. ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่

             เด็กปฐมวัยจะต้องสามารถวิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว วิ่งก้าวกระโดดได้ สามารถกระโดดด้วยสองขาพ้นจากพื้น ถือจับ ขว้าง กระดอนลูกบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปีนป่ายเครื่องเล่นสนามได้คล่องตัว

ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

             3. ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

             เด็กปฐมวัยจะต้องสามารถใช้มือประสานสัมพันธ์กับตาและหยิบจับอุปกรณ์วาดภาพและเขียน สามารถวาดภาพคนมีแขน ขา และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตัดตามรอยเส้นและรูปต่าง ๆ เขียนตามแบบอย่างได้

ทักษะภาษาและการรู้หนังสือ

             4. ทักษะภาษาและการรู้หนังสือ

             เด็กปฐมวัยจะต้องสามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ฟังและปฏิบัติตามคำชี้แจงง่าย ๆ ได้ อ่านหรือจดจำคำบางคำที่มีความหมายต่อตนเอง เขียนชื่อของตนเองได้ เป็นต้น

ทักษะกระบวนการการคิด

             5. ทักษะกระบวนการการคิด

             เด็กปฐมวัยจะต้องสามารถแลกเปลี่ยนความคิดและให้เหตุผลได้ ใช้คำใหม่ ๆ ในการแสดงความคิด ความรู้สึก ถามและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังได้ อธิบายเหตุการณ์ได้ตามเวลาตามลำดับอย่างถูกต้อง

ทักษะทางสังคมและอารมณ์

             6.ทักษะทางสังคมและอารมณ์

             เด็กปฐมวัยจะต้องสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ ใช้คำพูดเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้ง  นั่งได้นาน 5-10 นาที เพื่อฟังเรื่องราวหรือทำกิจกรรม ทำงานจนเสร็จ สามารถทำงานร่วมมือกับคนอื่นและผลัดกันเล่นได้ สามารุควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อกังวลหรือตื่นเต้น หยุดเล่นและทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำได้ พร้อมทั้งสามารถภูมิใจในความสำเร็จของตนเองได้

             การปรับตัวของเด็กในช่วงรอยต่อระหว่างระดับชั้นอนุบาลและระดับชั้นประถมศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การก้าวข้ามผ่านรอยต่อทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยเป็นไปอย่างราบรื่น และหากได้รับการสนับสนุนและการช่วยเหลือที่ดีพอจากคุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย การปรับตัวในช่วงรอยต่อของเด็กนั้นจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นและได้ประสิทธิผลเป็นอย่างมาก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *