อริสโตเติล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เคยกล่าวไว้ว่า “Human being is social animal” ความหมายในภาษาไทยก็คือ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เพราะโดยปกติแล้ว คนเราจะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเสมอ ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การให้ความสำคัญกับ “พัฒนาการด้านสังคม” ของเด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะพัฒนาการทางด้านสังคมจะสามารถช่วยให้เด็กแต่ละคนได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองและผู้อื่น หากเด็กคนใดมีพัฒนาการทางด้านสังคมที่ดีก็จะมีส่วนช่วยให้มีการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
จริง ๆ แล้ว พัฒนาการด้านสังคมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยทารกเลยก็ว่าได้ และเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น เด็กก็จะมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านสังคมที่สำคัญ เพราะเด็กในวัยนี้จะเริ่มอยากเล่นกับเพื่อน ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน มีกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมกัน ได้เรียนรู้ข้อตกลง กฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมตามวัย หากได้รับการส่งเสริม เอาใจใส่ ตอบสนองอย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลดีกับอนาคตของตัวเด็กได้เป็นอย่างดี
พัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย สามารถแบ่งได้ดังนี้
พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 3 ขวบ
– การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นยังไม่แน่นอนแล้วแต่อารมณ์ของเด็กแต่ละคนในขณะนั้น
– ชอบเล่นคนเดียว หรือเล่นบทบาทสมมติมากกว่าจะเล่นกับคนอื่น
– อาจจะมีการเล่นของเล่นชนิดเดียว แต่แยกกันเล่น ต่างคนต่างเลย
– รู้จักการรอคอย
– เริ่มปฏิบัติตามกฎ กติกาง่าย ๆ ได้
– รู้จักทำงานที่ได้รับมอบหมาย
– เริ่มรู้ว่าสิ่งใดเป็นของคนอื่น
พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 4 ขวบ
– เริ่มเล่นร่วมกับผู้อื่นได้
– มักจะเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกันมากกว่า
– เริ่มมีการทะเลาะกัน หรือโกรธกัน ในช่วงระยะเวลาไม่นาน ก็จะกลับมาเล่นด้วยกันอีก
– รู้จักการให้อภัย
– รู้จักการขอโทษ
– มีความรับผิดชอบมากขึ้น
– มีมารยาทในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น
พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 5 ขวบ
– มีการเล่นกับเพื่อนได้อย่างสามัคคีมากขึ้น
– เล่นกับเพื่อนโดยไม่เลือกเพศมากขึ้น
– สามารถฝึกกติกาง่าย ๆในการเล่นได้
– สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้
– สามารถเล่นหรือทำงานโดยมีจุดหมายเดียวกันได้มากขึ้น
– มีมารยาทต่อคนรอบข้างมากขึ้น
– รู้จักไหว้ทำความเคารพเมื่อพบผู้ใหญ่
วิธีการที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคมของเด็กปฐมวัยได้ง่ายที่สุดก็คือ การให้เด็กปฐมวัยได้ทำ “กิจกรรมการเล่น” อย่างเหมาะสม เพราะกิจกรรมการเล่นจะสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน
– การเล่นทำให้เด็กได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเยี่ยมยอด
– การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้การเข้าสังคม
– การเล่นช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น
– การเล่นช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การทำตามกฎ กติกา
– การเล่นช่วยให้เด็กรู้จักการรอคอย
– การเล่นช่วยให้เด็กดีได้รู้จักการแบ่งปัน
– การเล่นช่วยฝึกให้เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
– การเล่นทำให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
– การเล่นถือเป็นการเตรียมให้เด็กวัยนี้รู้จักปรับตัวในสังคมได้ดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
เมื่อมีการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคมของเด็กปฐมวัยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคุณครูปฐมวัยที่จะต้องมีการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยในด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะต้องใช้แบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยเข้ามาช่วย เพื่อนำไปสรุปในสมุดรายงานประจำตัวเด็กปฐมวัย ซึ่งการประเมินพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย มีความสำคัญ ดังต่อไปนี้
– ทำให้รู้ว่าเด็กมีพัฒนาการทางสังคมอย่างไร
– ทำให้รู้ว่าเด็กมีวิธีการเรียนรู้ทักษะทางสังคมอย่างไร
– ทำให้รู้ถึงความต้องการของเด็กที่จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมเพื่อนำไปสู่การตอบสนองที่เหมาะสม
หากคุณครูปฐมวัยพบว่าเด็กมีความบกพร่องตรงไหน ก็จะสามารถหาวิธีที่ช่วยเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยแต่ละคนได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป