ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นคุณครูอนุบาลจะต้องเลือกกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ให้กับเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญา โดยควรจัดประสบการณ์ผ่านการเล่นและเรียนรู้อย่างหลากหลายและตรงกับความสนใจของเด็ก ๆ
“การเล่านิทาน”
ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่สำคัญมากๆ ต่อเด็กปฐมวัยเพราะสามารถ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างรอบด้านและมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ปี พ.ศ. 2550ได้ระบุถึงความสำคัญของนิทานไว้ว่า…. “ นิทานเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เพราะนอกจากนิทาน จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความสุขสนุกหรรษาแล้วยังเป็นโลกแห่งจินตนาการที่สมบูรณ์แบบที่คอยช่วยถักทอสายใยความรัก ความฝัน สานสัมพันธ์อันอบอุ่นความละมุนละไมในกลุ่มสมาชิกของครอบครัวอีกทั้งนิทานยังให้แง่คิดคติสอนใจและปรัชญาชีวิตอันล้ำลึกแก่เด็ก”
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ระบุถึงคุณค่าและความสำคัญของการเล่านิทานให้เด็กฟังไว้ดังนี้
1.เพื่อสนองความต้องการทางธรรมชาติของเด็ก
2เพื่อให้เด็กผ่อนคลายความเครียด
3.ฝึกสมาธิด้านการฟัง ยืดช่วงความสนใจให้มากขึ้น
4. เพื่อส่งเสริมให้มีคุณธรรมจริยธรรมและมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์
5. เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวซึ่งเหมาะสมกับวัย
6. เพื่อส่งเสริมทักษะด้านภาษาและความคิดสร้างสรรค์
7. เพื่อส่งเสริมความกล้า เช่น กล้าซักถามกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
จะเห็นได้ว่า “สื่ออนุบาล” อย่าง “นิทาน”นั้นมีคุณค่ามหาศาลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมากกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเพลิดเพลินนอกจากนี้นิทานยังจะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กอนุบาล ช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีความจำดีช่วยสร้างสมาธิให้เด็ก ๆ ได้จดจ่อกับการทำกิจกรรมได้นาน ๆ เด็ก ๆ จะค่อย ๆซึมซับสิ่งดี ๆ จากนิทานไปทีละเล็กทีละน้อย
การเล่านิทานยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณครูปฐมวัยกับเด็กอนุบาลเรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ คุณครูปฐมวัยควรจะมีพรสวรรค์ ในการเล่านิทาน ต้องเล่าให้สนุกเล่าให้เด็กอนุบาลรู้สึกเพลิดเพลินจดจ่ออยู่กับเรื่องราวของนิทานตรงหน้าได้โดยไม่วอกแวกไปเล่นอย่างอื่นเสียก่อน เพื่อให้เด็ก ๆได้ซึมซับข้อคิดต่าง ๆ ในนิทานและจะช่วยกระตุ้นการทำงานและการเชื่อมโยงของเซลล์สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องราวหรือสิ่งที่บอกเล่าอยู่ในนิทาน อย่างเป็นรูปธรรมได้ดีมากขึ้นคุณครูปฐมวัยก็ควรมี “สื่ออนุบาล”อย่างอื่นมาเป็นตัวช่วย เช่น หนังสือนิทาน หุ่นถุงกระดาษ หุ่นนิ้วมือ ภาพประกอบหรือแม้กระทั่งการแสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่องก็จะช่วยส่งเสริมการเล่านิทานให้สนุกมากขึ้นเกิดการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เลือกนิทานอย่างไรให้เหมาะกับวัยของเด็กอนุบาล?
นิทานที่เหมาะกับเด็กอายุ 2-3 ปี ควรเป็นหนังสือนิทานภาพที่เด็กสนใจ เช่น หนังสือภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ และสิ่งของเนื่องจากในเด็กวัยนี้มีประสาทสัมผัสในการฟังที่มีประสิทธิภาพมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษาที่ดีได้ยินเรื่องราวที่ดีได้ฟังน้ำเสียงที่เล่าเรื่องอย่างเพลิดเพลินก็จะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านภาษาได้เป็นอย่างดี
นิทานที่เหมาะกับเด็กอายุ 4-5 ปี ควรเป็นนิทานที่มีเรื่องราวที่ยาวขึ้นแต่ก็ยังต้องเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนเน้นความจริงที่ผสมผสานกับจินตนาการรูปเล่มของหนังสือนิทานก็ต้องมีภาพประกอบที่มีสีสันสดใส มีตัวอักษรบรรยายและมีขนาดใหญ่พอสมควร
ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก คือต้องง่าย ๆ ไว้ก่อนซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ
หนังสือนิทานที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยต้องเป็นอย่างไร?
1.ไม่จำเป็นต้องมีตัวหนังสือเยอะ
2.มีภาพประกอบชัดเจน สวยงาม สีสันสดใส
3.เรื่องราวต้องสนุกสนาน เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเหมาะสมกับอายุของปฐมวัย
4.รูปเล่มต้องเป็นขอบมน กระดาษหนา ปลอดภัยไม่บางจนบาดมือเด็กสำหรับ
5.ตัวหนังสือควรมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย ชัดเจน
6.ต้องมีการใช้ภาษาที่ถูกต้อง
หนังสือนิทานที่ดีจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เด็ก ๆ สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กปฐมวัยอยากจะอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นแค่คุณครูจัดกิจกรรมอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังทุกวัน วันละ 5-10 นาที อย่างสม่ำเสมอก็จะสร้างนิสัยรักการอ่านและนิสัยรักการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้มากแล้วเมื่อการเล่านิทานสามารถส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านให้กับเด็กปฐมวัย ทั้งด้านร่างกายด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคมแล้วก็เป็นการง่ายต่อการประเมินพัฒนาการเด็กคุณครูปฐมวัยสามารถนำแบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยมาประเมินพัฒนาการตามสภาพจริงจากกิจกรรมประจำวัน ผ่านการสังเกต และการบันทึกพฤติกรรม และ นำข้อมูลที่สรุปออกมาได้จากการประเมินพัฒนาการทั้งหมดในหลาย ๆ กิจกรรมไปบันทึกข้อมูลลงสมุดรายงานประจำตัวเด็กปฐมวัยหรือสมุดพกปฐมวัยซึ่งสามารถนำข้อมูลตรงนี้มาใช้ในการปรับแผนการจัดประสบการณ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้