“มาตรฐานการศึกษา” หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริม และกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษา
สำหรับมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยนั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 มาตรฐาน ได้แก่
มาตรฐานที่ 1 คุณภาพเด็ก
เป็นผลพัฒนาการเด็กในด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยมีรายละเอียดดังนี้
– มีพัฒนาการด้านร่างกายแข็งแรง มีสุขนิสัยที่ดี และดูแลความปลอดภัยของตนเองได้
โดยเด็กปฐมวัยจะต้องมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ เคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่ว สามารถใช้มือและตาได้อย่างประสานสัมพันธ์กัน ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองได้ดี และต้องรู้จักระวังภัยจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายได้
– มีพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ ควบคุมและแสดงออกทางอารมณ์ได้
โดยเด็กปฐมวัยจะต้องอารมณ์ดี ร่าเริงแจ่มใส สามารถอดทนรอคอยได้ กล้าพูด กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง รู้จักชื่นชมผู้อื่น และรู้จักการช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น
– มีพัฒนาการด้านสังคม ช่วยเหลือตนเอง และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
โดยเด็กปฐมวัยจะต้องสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ มีมารยาทตามที่สังคมกำหนด รู้จักการยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
– มีพัฒนาการด้านสติปัญญา สื่อสารได้ มีทักษะการคิดพื้นฐาน และแสวงหาความรู้ได้
โดยเด็กปฐมวัยจะต้องสามารถโต้ตอบและเล่าเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจได้ รู้จักตั้งคำถามและสงสัยในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีความสามารถในการคิดรวบยอด สามารถคิดแก้ปัญหาและสามารถตัดสินใจในเรื่องง่าย ๆ ได้
มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริการและการจัดการ
เป็นกระบวนการในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้
– มีหลักสูตรครอบคลุมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น
โดยสถานศึกษาจะต้องมีหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการลงมือทำ ไม่เน้นวิชาการมากเกินไป จะต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์กับทั้งเด็กปกติและเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และจะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น
– จัดครูให้เพียงพอกับชั้นเรียน
โดยสถานศึกษาจะต้องจัดครูให้เหมาะสมกับหลักสูตรการเรียนการสอนและจะต้องเพียงพอต่อจำนวนเด็กในชั้นเรียนด้วย
– ส่งเสริมให้ครูมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดประสบการณ์
โดยสถานศึกษาจะต้องพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการจัดการเรียนการสอนและการประเมินพัฒนาเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย
– จัดสภาพแวดล้อมและสื่อเพื่อการเรียนรู้อย่างปลอดภัยและเพียงพอ
โดยสถานศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับห้องเรียน สภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีมุมประสบการณ์ มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
– ให้บริการสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการจัดประสบการณ์
โดยสถานศึกษาจะต้องอำนวยความสะดวกและให้บริการสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศวัสดุและอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการจัดประสบการณ์และพัฒนาครู
– มีระบบบริหารคุณภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
โดยสถานศึกษาจะต้องกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย จัดทำแผนที่เหมาะสม มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินงาน นำผลการประเมินไปปรับปรุงเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาต่อไป
มาตรฐานที่ 3 การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
เป็นการจัดประสบการณ์ให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุล รู้จักเด็กอย่างเจาะลึกเป็นรายบุคคล และมีการติดตามประเมินผลพัฒนาการเด็กอย่างเป็นระบบ
– จัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุลเต็มศักยภาพ
โดยคุณครูปฐมวัยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคล จัดทำแผนการจัดประสบการณ์ ซึ่งจะต้องเป็นการจัดประสบการณ์ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กครบทุกด้าน ไม่เฉพาะเจาะจงที่จะพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว
– สร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เล่นและปฏิบัติอย่างมีความสุข
โดยคุณครูปฐมวัยจะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กได้เลือกทำอย่างมีอิสระ ตามความต้องการ ตามความสนใจ ตามความสามารถ เพื่อให้เด็กได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้อย่างมีความสุข
– จัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้สื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัย
โดยคุณครูปฐมวัยจะต้องจัดห้องเรียนให้สะอาด ปลอดภัย มีอากาศถ่ายเท มีพื้นที่ทำกิจกรรมที่เด็กสามารถมีส่วนร่วมได้ และจะต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความสนใจและดีต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
– ประเมินพัฒนาการเด็กตามสภาพจริงและนำผลการประเมินพัฒนาการเด็กไปปรับปรุงการจัดประสบการณ์และพัฒนาเด็ก
โดยคุณครูปฐมวัยจะต้องมีการประเมินพัฒนาการเด็กจากกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย และนำผลการประเมินที่ได้ไปพัฒนาคุณภาพของเด็กและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพ
มาตรฐานการศึกษาของระดับปฐมวัยนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หลายประการทั้งตัวเด็กปฐมวัยเอง ทั้งตัวคุณครูปฐมวัย สถานศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยทุกคน ตลอดจนประเทศชาติ เพื่อปลูกฝังให้เกิดประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต