ล้วงลับ เจาะลึก “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อรู้คำจำกัดความที่ตรงกัน1

การศึกษาในระดับปฐมวัย นับเป็นการวางฐานรากชีวิตของคนคนหนึ่งให้มั่นคง เพื่อให้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข เด็กในช่วงปฐมวัยจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกาย ปัญญา และสังคม เพราะจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีความสามารถในการดำรงชีวิตขั้นต้น เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในการก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า

คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 จึงได้ถูกจัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กอายุ 3 – 6 ปี ในสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็ก สามารถนำปรัชญาการศึกษาปฐมวัย และหลักการของหลักสูตร ไปปฏิบัติและใช้ให้เกิดผล เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วง 3 – 6 ปี ได้อย่างสมดุลครบทุกด้าน

การอ่านคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจสูงสุดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อเข้าใจคำจำกัดความที่ตรงกัน  ด้วยเหตุ “รัฐกุล” จึงได้รวบรวมนิยามศัพท์ที่คุณครูปฐมวัยต้องรู้มาไว้ให้กับคุณครูปฐมวัยทุกคนแล้ว

นิยามคำศัพท์หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560

ล้วงลับ เจาะลึก “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อรู้คำจำกัดความที่ตรงกัน 2

คำศัพท์ "หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย"

ความหมาย “หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาเด็กในด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และถือเป็นหลักสูตรแกนกลางซึ่งเป็นกรอบทิศทางหรือแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาปฐมวัย สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการจัดการศึกษาปฐมวัย”

คำศัพท์ "หลักสูตรสถานศึกษา"

ความหมาย “หลักสูตรที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่นหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยนำสภาพต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา จุดเด่นเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติมากำหนดเป็นปรัชญา วิสัยทัศน์ ภารกิจ จุดหมาย มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตลอดจนกำหนดสาระการเรียนรู้รายปี หน่วยการเรียนรู้ การจัดประสบการณ์ การสร้างบรรยากาศและการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้การประเมินพัฒนาการและการบริหารจัดการหลักสูตร อย่างสอดคล้องกับสภาพบริบทและหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560”

คำศัพท์ "ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย"

ความหมาย “อุดมการณ์ ความเชื่อ ความศรัทธาทางการศึกษาปฐมวัย ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของสถานศึกษา สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

คำศัพท์ "วิสัยทัศน์"

ความหมาย “คำอธิบายเกี่ยวกับความคาดหวังที่เป็นไปได้ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานเพื่อเป็นทิศทางในการวางแผนจัดการศึกษา และการดำเนินงานในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ตามเวลาที่กำหนดสอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษา และเกิดจากการมีส่วนร่วมและความเห็นพ้องร่วมกันของบุคลากรทุกฝ่าย”

ล้วงลับ เจาะลึก “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อรู้คำจำกัดความที่ตรงกัน 3

คำศัพท์ "มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์"

ความหมาย “ข้อกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก เมื่อได้รับการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ในแต่ละระดับอายุ คืออายุ 3-4 ปี อายุ 4-5 ปี และอายุ 5-6 ปี”

คำศัพท์ "ตัวบ่งชี้"

ความหมาย “เป้าหมายในการพัฒนาเด็กที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการประเมินพัฒนาการเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน”

คำศัพท์ "สภาพที่พึงประสงค์"

ความหมาย “พฤติกรรมหรือความสามารถตามวัยที่คาดหวังให้เด็กเกิดบนพื้นฐานพัฒนาการตามวัยหรือความสามารถตามธรรมชาติ ในแต่ละระดับอายุ”

คำศัพท์ "เด็กปฐมวัย"

ความหมาย “เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี บริบูรณ์ สำหรับในคู่มือฉบับนี้หมายถึงเด็กอายุ 3-5 ปี”

ล้วงลับ เจาะลึก “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อรู้คำจำกัดความที่ตรงกัน 4

คำศัพท์ "สถานศึกษา"

ความหมาย “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบันมหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชนที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา”

คำศัพท์ "สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย"

ความหมาย “ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนาศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการและเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น”

คำศัพท์ "กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ"

ความหมาย “เด็กที่ควรได้รับการดูแล ช่วยเหลือและให้การศึกษาที่สนองตอบสภาพความแตกต่าง ความต้องการและความจำเป็น ได้แก่- เด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ เช่น ด้านร่างกาย สุขภาพ สติปัญญา การได้ยิน การมองเห็น การเรียนรู้ การพูดและภาษา พฤติกรรมหรืออารมณ์ เป็นต้น- เด็กที่ไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส เช่น เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กชาวเล เด็กชนเผ่า เด็กไร้สัญชาติ เป็นต้น- เด็กถูกละเมิดจากการถูกกระทำทางร่างกาย จิตใจ รวมทั้งการละเมิดทางเพศ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ เอช ไอ วี- เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ความสามารถเป็นเลิศทาง สติปัญญา กีฬา ดนตรี ศิลปะ เป็นต้น- เด็กที่ได้รับการศึกษาโดยครอบครัว”

คำศัพท์ "การประเมินผลจากสภาพจริง"

ความหมาย “การประเมินผลโดยใช้กระบวนการสังเกต การบันทึก การรวบรวมข้อมูลจากวิธีการทำงาน ข้อมูลจากผลงาน ที่เกิดจากการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ตามเหตุการณ์ และสภาพความเป็นจริงในกิจกรรมประจำวัน”

คำศัพท์ "สารนิทัศน์"

ความหมาย “ข้อมูลหลักฐานหรือร่องรอยพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ การจัดทำสารนิทัศน์เป็นการจัดทำข้อมูลที่จะเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นร่องรอยของการเจริญเติบโตพัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย”

ล้วงลับ เจาะลึก “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อรู้คำจำกัดความที่ตรงกัน 5

คำศัพท์ "บูรณาการ"

ความหมาย “รูปแบบการจัดกิจกรรมหนึ่งกิจกรรม เด็กเรียนรู้ได้หลายทักษะ และหลายประสบการณ์สำคัญ หรือหนึ่งแนวคิดเด็กเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม”

คำศัพท์ "ประสบการณ์สำคัญ"

ความหมาย “กิจกรรมสำคัญที่หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกำหนดให้นำไปจัดประสบการณ์ ให้เด็กได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดความรู้หรือทักษะที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายอารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา”

คำศัพท์ "พัฒนาการ"

ความหมาย “การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและวุฒิภาวะ ของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ของแต่ละบุคคล ที่ทำให้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มทักษะใหม่ ๆ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวบุคคลและสภาพแวดล้อมทางกายภาพในบริบทต่างๆ”

คำศัพท์ "พัฒนาเด็กโดยองค์รวม"

ความหมาย “การพัฒนาเด็กอย่างสมดุลทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา”

ล้วงลับ เจาะลึก “นิยามศัพท์หลักสูตรปฐมวัย” เพื่อรู้คำจำกัดความที่ตรงกัน 6

คำศัพท์ "พัฒนาการด้านร่างกาย"

ความหมาย “ความสามารถของร่างกายในการทรงตัวในอิริยาบถต่าง ๆ การเคลื่อนไหว การเคลื่อนที่โดยการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ เช่น การนั่ง ยืน เดิน วิ่ง กระโดด การใช้ประสาทสัมผัสรับรู้และการใช้ตาและมือประสานกันในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การหยิบ การจับของ การขีดเขียน การปั้น การประดิษฐ์ เป็นต้น ขอบข่ายพัฒนาการด้านร่างกายในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยประกอบด้วย สุขภาพอนามัยสุขนิสัยที่ดี ความปลอดภัย การเคลื่อนไหวและการทรงตัว การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา”

คำศัพท์ "พัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ"

ความหมาย “ความสามารถในการรู้สึกและแสดงความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ รัก ชอบ โกรธ เกลียด กลัว และ เป็นสุข ความสามารถในการแยกแยะ และควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ขอบข่ายพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ประกอบด้วย การแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น กล้าแสดงออก การแสดงออกผ่านงานศิลปะ ดนตรีและการเคลื่อนไหว ซื่อสัตย์สุจริต เมตตากรุณา มีน้ำใจช่วยเหลือและแบ่งปันผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ”

คำศัพท์ "พัฒนาการด้านสังคม"

ความหมาย “ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะการปรับตัวในสังคม คือ สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตน ร่วมมือกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ ความเป็นตัวของตัวเองและรู้กาลเทศะสำหรับเด็ก หมายความรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจาวัน นอกจากนั้นพัฒนาการด้านสังคมยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านจิตวิญญาณ คุณธรรม และเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญา ทำให้รู้จักแยกแยะความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดี และความสามารถในการเลือกดำรงชีวิตในทางสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วย ขอบข่ายพัฒนาการด้านสังคมในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยประกอบด้วย การช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน มีวินัยในตนเอง ประหยัดและพอเพียง ดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมารยาทตามวัฒนธรรมไทยและรักความเป็นไทย การเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น การปฏิบัติตามกฎกติกาข้อตกลงของส่วนรวม การแสดงออกและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และการประนีประนอมแก้ไข ปัญหาโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง”

คำศัพท์ "พัฒนาการด้านสติปัญญา"

ความหมาย “ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ กับตนเอง การรับรู้ สังเกต จำแนก เปรียบเทียบ จดจำ วิเคราะห์ รู้คิด รู้เหตุผล และความสามารถในการสืบค้น แก้ปัญหาตลอดจนการสังเคราะห์ ซึ่งเป็นความสามารถเชิงสติปัญญาในระดับสูง โดยแสดงออกด้วยการใช้ภาษาสื่อความหมายและการกระทำ ขอบข่ายพัฒนาการด้านสติปัญญาในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยประกอบด้วย ทักษะการใช้ภาษาสื่อสาร ทักษะการคิดรวบยอด การคิดเชิงเหตุผล การคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และความสามารถในการแสวงหาความรู้”

ที่มา : คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560  (สำหรับเด็กอายุ 3 – 6 ปี)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *