ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัย+rathakun
เด็กปฐมวัย2+rathakun

“ความคิดสร้างสรรค์” ถือเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเด็กปฐมวัยทุกคน  ยิ่งเด็กปฐมวัยได้รับการฝึกฝนและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้เร็วมากเท่าใด ก็จะยิ่งดีต่อตัวเด็กมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากในช่วงนี้เด็กแต่ละคนจะมีความคิดและมีจินตนาการที่กว้างไกลจนสามารถพัฒนาศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากเด็กปฐมวัยไม่ได้รับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ก็อาจจะส่งผลต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในวัยต่อไปได้  โดยความคิดสร้างสรรค์อาจจะแสดงออกมาในรูปของผลงานที่เกิดจากจินตนาการ ความคิด และความมุ่งมั่น ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง

เด็กปฐมวัย3+rathakun

             การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

1. ช่วง 3-4 ขวบ

เด็กปฐมวัย4+rathakun

 

เด็กปฐมวัย ช่วง 3-4 ขวบ  จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์ตรง จากนั้นจะสื่อถึงสิ่งที่รับรู้มาโดยการแสดงออกและจินตนาการ ในช่วงนี้เด็ก ๆ จะตื่นเต้นกับประสบการณ์ต่าง ๆ  ที่ได้สัมผัสเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีช่วงความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ในระยะเวลาอันสั้น เด็ก ๆ จะมีความเชื่อมั่นในตนเอง และเริ่มรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง 

2. ช่วง 4-5 ขวบ

เด็กปฐมวัย5+rathakun

 

เด็กปฐมวัย ช่วง 4-5 ขวบ จะมีจินตนาการสูง เริ่มสนุกสนานกับการคิดวางแผนในการเล่น มีความอยากรู้อยากเห็น มีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ มีการแสดงบทบาทสมมติตามจินตนาการ สามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น มีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ แม้ว่าอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจสาเหตุและผลที่ตามมาได้เท่าที่ควร

เด็กปฐมวัย6+rathakun

             จะเห็นได้ว่าเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่เด็กมีพัฒนาการด้านจินตนาการ ตื่นเต้นกับประสบการณ์ต่าง ๆ ชอบเล่นบทบาทสมมติ มีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จึงเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดในการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์  โดยมีแนวทางในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัย ดังนี้

  • คุณครูปฐมวัย จะต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กเกิดการตั้งคำถามและสนใจต่อคำถามที่น่าสนใจ อันจะทำให้เด็กปฐมวัยได้ใช้ทักษะและประสบการณ์ของเด็กในการค้นหาคำตอบ

  • คุณครูปฐมวัย จะต้องพยายามส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้ใช้จินตนาการ พร้อมทั้งยอมรับและแสดงให้เด็กเห็นว่าความคิดจินตนาการที่เด็กได้ถ่ายทอดออกมานั้นมีคุณค่า เพื่อให้เด็กมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

  • คุณครูปฐมวัย จะต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นอิสระ ผ่อนคลาย ไม่บังคับเด็กจนเกินไป

  • คุณครูปฐมวัย ควรส่งเสริมให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก จะต้องพยายามทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระ เพื่อที่จะทำให้เด็กสามารถกล้าคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมา

เด็กปฐมวัย7+rathakun

 

กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย จัดเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กระดับชั้นอนุบาลได้เป็นอย่างดี และยังส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน โดยคุณครูควรจะต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ แต่ละคนเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรม สร้างสรรค์ผลงานตามอิสระ กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ที่สามารถจัดให้กับเด็กปฐมวัย แบ่งตามประสบการณ์สำคัญได้ดังนี้

             ประสบการณ์ที่สำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

                             เป็นลักษณะของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ที่เน้นการพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เช่น การปั้นดินน้ำมัน การร้อยลูกปัด การวาดรูป การประดิษฐ์ผลงานจากวัสดุต่าง ๆ  การม้วนกระดาษ การสานกระดาษ การขยำกระดาษ การบิดกระดาษ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เป็นต้น

             ประสบการณ์ที่สำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ

                     เป็นลักษณะของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ที่เน้นส่งเสริมด้านสุนทรียภาพ เปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยได้ชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม เช่น การปั้น การวาดตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ จากนั้นก็ให้เด็ก ๆ ได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อผลงาน พร้อมทั้งคุณครูก็ต้องแสดงความชื่นชมต่อผลงานของเด็ก ๆ ด้วย

              ประสบการณ์ที่สำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม

                     เป็นลักษณะของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกของตัวเอง ถ่ายทอดความต้องการของตัวเองออกมา  ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กสนใจความรู้สึกของผู้อื่น โดยคุณครูปฐมวัยควรให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมศิลปะตามความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเภทของกระดาษ ชนิดของสี วัสดุต่าง ๆ สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

         ประสบการณ์ที่สำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา

                             เป็นลักษณะของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ที่เน้นการส่งเสริมความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตลอดจนความคิดรวบยอด ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่น การปั้น การประดิษฐ์งานศิลปะจากเศษวัสดุ การเล่นกับสีในลักษณะต่าง ๆ เป็นต้น

             “ความคิดสร้างสรรค์” จัดเป็นคุณสมบัติของบุคคลที่สังคมต้องการและให้การยอมรับ  สามารถก่อให้เกิดผลงานใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ จึงเป็นหน้าที่ของคุณครูปฐมวัยที่จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็กเองในอนาคตภายหน้า เพราะความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้ปรับตัวได้ดี และประสบความสำเร็จในอนาคตได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *