หลักการการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

หลักการการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

สำหรับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดให้นักเรียนแต่ละระดับชั้นต้องมีผลการประเมินความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการเลื่อนชั้นและจบการศึกษาแต่ละระดับการศึกษา

โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนแต่ละคนจะต้องมีความสามารถในการอ่านจากหนังสือ ตำราเรียน เอกสาร หรือสื่อต่าง ๆ แล้วนำเนื้อหาสาระที่อ่านมาคิดวิเคราะห์นำไปสู่การแสดงความคิดเห็น การสังเคราะห์ สร้างสรรค์ การแก้ปัญหา แล้วถ่ายทอดความคิดนั้นด้วยการเขียนที่มีสำนวนภาษาถูกต้อง มีเหตุผล และมีการนำเสนอที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน จนสามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจนตามขอบเขตและตัวชี้วัดของแต่ละระดับชั้น

การพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องผลักดันให้เด็ก ๆ แต่ละคนสามารถคิดวิเคราะห์จากเนื้อหาสาระที่อ่านและถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วยการเขียน

และเนื่องจากการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เป็นการแสดงความสามารถในภาพรวมที่ต่อเนื่องกัน เริ่มได้ด้วยการอ่าน การคิดวิเคราะห์จากสาระที่อ่าน และการเขียนสะท้อนความคิดที่ได้จากการอ่าน คุณครูจึงต้องควรทราบว่าเด็กนักเรียนแต่ละคนนั้นมีความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนตามตัวชี้วัดของแต่ละระดับชั้นหรือไม่ จำเป็นต้องประเมินจากผลงานที่เกิดจากการเขียน เพราะผลงานการเขียนจะเป็นผลผลิตขั้นสุดท้ายที่จะปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

โดยได้กำหนดขอบเขตการประเมินและตัวชี้วัดที่แสดงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของผู้เรียนไว้ 

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 

ผู้เรียนสามารถอ่านจากสื่อที่หลากหลาย จับประเด็นสำคัญ ข้อเท็จจริง เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ โทษ แสดงความคิดเห็นโดยมีเหตุผลประกอบ และแสดงความรู้สึกจากเรื่องที่อ่านโดยการเขียน

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 

ผู้เรียนสามารถอ่านเพื่อหาข้อมูลสารสนเทศ จับประเด็นสำคัญเปรียบเทียบ เชื่อมโยง แสดงความคิดเห็น และถ่ายทอดความเข้าใจ ความคิดเห็น คุณค่าจากเรื่องที่อ่านโดยการเขียน

โดยจะมี หลักการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ดังต่อไปนี้

1. เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงพัฒนาผู้เรียน และประเมินเพื่อการตัดสินการเลื่อนชั้นและจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

2. ใช้วิธีการประเมินที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้แสดงออกซึ่งความสามารถดังกล่าวอย่างเต็มตามศักยภาพ และทำให้ผลการประเมินที่ได้มีความน่าเชื่อถือ

3. การกำหนดภาระงานให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติ ควรสอดคล้องกับขอบเขตและประเด็นการประเมินที่กำหนด

4. ใช้รูปแบบวิธีการประเมินและเกณฑ์การประเมินที่ได้จากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง

5. การสรุปผลการประเมินเพื่อรายงาน เน้นการรายงานคุณภาพของความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เป็น 4 ระดับ คือ ดีเยี่ยม ดี ผ่าน และไม่ผ่าน

ดีเยี่ยม = มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ที่มีคุณภาพดีเลิศอยู่เสมอ

ดี =  มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ

ผ่าน = มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ที่มีข้อบกพร่องบางประการ

ไม่ผ่าน = ไม่มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน หรือถ้ามีผลงาน ผลงานนั้นยังมีข้อบกพร่องที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายประการ

ในการพัฒนาและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของเด็ก ๆ แต่ละคน คุณครูสามารถเลือกรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมกับระดับชั้นและศักยภาพของผู้เรียน รวมไปถึงสอดคล้องกับธรรมชาติของกลุ่มสาระการเรียนรู้และความพร้อมของโรงเรียนด้วย

ใครอ่านบทความนี้จบแล้ว สามารถติดตามสาระดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ “รัฐกุล”  Facebook :  รัฐกุล และ โปรแกรมครูแคร์

#สอบถาม #สั่งซื้อ #สื่อการเรียนการสอน
.
📲 m.me/rathakun11/
📲 Line ID: (ใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะคะ )
หรือ คลิก https://bit.ly/3PpzYDC
☎️ 081-6257458 , 0896911094
รัฐกุล “ผู้ช่วยที่ดีที่สุดของคุณครูอนุบาล”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *