องค์ประกอบของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เป็นกระบวนการที่สำคัญในการบริหารจัดการการศึกษาและการสอนในระบบการศึกษาทุกระดับ

ผ่านขั้นตอนการเก็บรวบรวม ตรวจสอบ ตีความผลการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของหลักสูตร เพื่อนำผลไปปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินผลการเรียน

โดยแต่ละสถานศึกษาต้องมีกระบวนการจัดการที่เป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และให้ผลการประเมินที่ตรงตามความรู้ความสามารถที่แท้จริงของเด็กนักเรียน ถูกต้องตามหลักการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถรองรับการประเมินภายในและการประเมินภายนอกตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาได้

และเนื่องจากการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เป็นการแสดงความสามารถในภาพรวมที่ต่อเนื่องกัน เริ่มได้ด้วยการอ่าน การคิดวิเคราะห์จากสาระที่อ่าน และการเขียนสะท้อนความคิดที่ได้จากการอ่าน คุณครูจึงต้องควรทราบว่าเด็กนักเรียนแต่ละคนนั้นมีความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนตามตัวชี้วัดของแต่ละระดับชั้นหรือไม่ จำเป็นต้องประเมินจากผลงานที่เกิดจากการเขียน เพราะผลงานการเขียนจะเป็นผลผลิตขั้นสุดท้ายที่จะปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ได้กำหนดจุดหมาย สมรรถนะสำคัญของนักเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้ สำหรับเป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก

ได้มีการกำหนดให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดในสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ มีความสามารถในการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียน มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

โดยมีองค์ประกอบของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย…

1. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้

คุณครูผู้สอนจะเป็นผู้วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในชั้นเรียนเป็นรายวิชา บนพื้นฐานของตัวชี้วัดในรายวิชาพื้นฐานและผลการเรียนรู้ในรายวิชาเพิ่มเติม ตามที่กำหนดในหน่วยการเรียนรู้ 

คุณครูผู้สอนจะใช้วิธีการที่หลากหลายจากแหล่งข้อมูลอันหลากหลายเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่สะท้อนความรู้ความสามารถที่แท้จริงของเด็กนักเรียนในชั้นเรียน โดยวัดและประเมินการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการจัดการเรียนการสอน สังเกตพัฒนาการและความประพฤติ สังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม ซึ่งคุณครูผู้สอนควรเน้นการประเมินตามสภาพจริง เช่น…

การประเมินการปฏิบัติงาน 

การประเมินจากโครงงาน 

การประเมินจากแฟ้มสะสมงาน ฯลฯ 

ควบคู่ไปกับการใช้การทดสอบแบบต่าง ๆ อย่างสมดุล

 โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินระหว่างเรียนมากกว่าการประเมินปลายปี/ปลายภาค และใช้เป็นข้อมูลเพื่อประเมินการเลื่อนชั้นเรียนและการจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

2. การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เป็นการประเมินศักยภาพของเด็กนักเรียนในการอ่านหนังสือ เอกสาร และสื่อต่าง ๆ เพื่อหาความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ ความสุนทรีย์ และประยุกต์ใช้ แล้วนำเนื้อหาสาระที่อ่านมาคิดวิเคราะห์ นำไปสู่การแสดงความคิดเห็น การสังเคราะห์ สร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ และถ่ายทอดความคิดนั้นด้วยการเขียนที่มีสำนวนภาษาถูกต้อง มีเหตุผลและลำดับขั้นตอนในการนำเสนอ สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจนตามระดับความสามารถในแต่ละระดับชั้น

กรณีนักเรียนคนใดมีความบกพร่องในกระบวนการด้านการเห็นหรือที่เกี่ยวข้องทำให้เป็นอุปสรรคต่อการอ่าน สถานศึกษาสามารถปรับวิธีการประเมินให้เหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายนั้น

การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน สถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสรุปผลเป็นรายปีและรายภาค เพื่อวินิจฉัยและใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาผู้เรียนและประเมินการเลื่อนชั้น ตลอดจน

การจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

3. การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นการประเมินคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนแต่ละคน อันเป็นคุณลักษณะที่สังคมต้องการ ทั้งในด้านของคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งในฐานะพลเมืองไทยและพลโลก 

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 คุณลักษณะ ในการประเมินให้ประเมินแต่ละคุณลักษณะ แล้วรวบรวมผลการประเมินจากผู้ประเมินทุกฝ่ายและแหล่งข้อมูลหลายแหล่งเพื่อให้ได้ข้อมูลนำมาสู่ การสรุปผลเป็นรายปีและรายภาค และใช้เป็นข้อมูลเพื่อประเมินการเลื่อนชั้นและการจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

4. การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมและผลงานของนักเรียน และเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกิจกรรม และใช้เป็นข้อมูลประเมินการเลื่อนชั้นเรียนและการจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางเป็น
กระบวนการที่ซับซ้อนและต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการสร้างนักเรียนที่มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่เหมาะสมในสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

#สอบถาม #สั่งซื้อ #สื่อการเรียนการสอน
.
📲 m.me/rathakun11/
📲 Line ID: (ใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะคะ )
หรือ คลิก https://bit.ly/3PpzYDC
☎️ 081-6257458 , 0896911094
รัฐกุล “ผู้ช่วยที่ดีที่สุดของคุณครูอนุบาล”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *