เด็กปฐมวัยจะเติบโตอย่างแฮปปี้...ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดี

การที่เด็กหนึ่งคนจะมีพัฒนาการที่ดีจนสามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพนั้นจะต้องอาศัยรากฐานที่สำคัญหลายประการประกอบกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “การมีสุขภาพที่ดี

เด็กปฐมวัยจะเติบโตอย่างแฮปปี้...ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดี

“การมีสุขภาพที่ดี” คืออะไร ?

การมีสุขภาพที่ดี หมายถึง ภาวะที่สมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ ไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

ถ้าหากสุขภาพกายดี แต่สุขภาพจิตไม่ดี ก็จะส่งผลทำให้สุขภาพกายไม่ดีตาม หรือในทางกลับกัน หากสุขภาพจิตดี แต่สุขภาพกายมีปัญหา ไม่ช้าก็เร็วสุขภาพกายที่มีปัญหานั้นย่อมทำให้สุขภาพจิตแย่ตาม เพราะฉะนั้นการมีสุขภาพที่ดีจะต้องมีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ไปพร้อม ๆ กัน

“สุขภาพจิต” คือ สภาพชีวิตที่เป็นสุข มีอารมณ์มั่นคง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมาก ๆ ได้ ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยความพอใจ

สภาพจิตใจหรือสุขภาพจิตของเด็กปฐมวัยถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเด็กแต่ละคนย่อมมีพื้นฐานของอารมณ์หรือสภาพจิตใจแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนปรับตัวง่าย เด็กบางคนปรับตัวยาก บางคนอารมณ์ดี บางคนอารมณ์ ไม่ดี บางคนชอบเล่นคนเดียว บางคนชอบเล่นกับเพื่อนเยอะ ๆ โดยพื้นฐานของอารมณ์หรือสภาพจิตใจนี้อาจกระตุ้นให้ได้รับการตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน ถ้าเด็กเติบโตมาในสังคมที่สงบสุข มีความยุติธรรมก็จะส่งผลให้เด็กรู้สึกมั่นคง มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมองโลกในแง่ดี ทำให้พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น เติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพ ผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็ก อาทิเช่น คุณครูปฐมวัย จึงมีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจบทบาทของตนที่จะช่วยพัฒนาเด็ก และป้องกันปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กอนุบาล

ในเด็กช่วงวัยอนุบาลย่อมต้องผ่านการประเมินพัฒนาการสุขภาพจิตตามมาตรฐานการชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ มาตรฐานที่ 3 มีสุขภาพจิตและมีความสุข โดยคุณครูอนุบาลจะต้องประเมินโดยมีตัวบ่งชี้ดังนี้        

เด็กปฐมวัยจะเติบโตอย่างแฮปปี้...ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดี 2

การแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม

อายุ  3 – 4 ปี สามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึกได้เหมาะสมกับบางสถานการณ์

อายุ 4 – 5 ปี สามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึกได้เหมาะสมตามสถานการณ์

อายุ 5 – 6 ปี สามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึกได้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม

มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น

อายุ  3 – 4 ปี กล้าพูดกล้าแสดงออก แสดงความพอใจในผลงานของตนเอง

อายุ 4 – 5 ปี กล้าพูดกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมบางสถานการณ์ แสดงความพอใจในผลงานและความสามารถของตนเอง

อายุ 5 – 6 ปี กล้าพูดกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ แสดงความพอใจในผลงานและความสามารถของตนเองและผู้อื่น

การแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมของเด็กปฐมวัย

ในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ จะชอบเล่นมาก ดังนั้นการเล่นจึงถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง การเล่นมีผลดีหลายอย่างต่อเด็ก เช่น ได้รับความสนุกเพลิดเพลิน ได้ฝึกความสามารถที่ได้มาใหม่ เช่น การวิ่ง การใช้มือ ช่วยให้เด็กคลายเครียด ระบายอารมณ์ที่เก็บกดไว้  สนับสนุนให้เด็กใช้กำลังไปในทางสร้างสรรค์ เป็นต้น

คุณครูปฐมวัยจึงควรจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กได้ แสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของตนเองที่เหมาะสมกับวัย มีความสุข ร่าเริง แจ่มใส เห็นใจผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น

             (1) การฟังเพลง การร้องเพลง และการแสดงปฏิกิริยา โต้ตอบเสียงดนตรี  ด้วยการทำท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ เช่น โยกตัว ส่ายสะโพก ตบมือ ย่ำเท้า ตามจังหวะและเสียงเพลง

             (2) การเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เล่นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ หรือวัสดุ ๆ อื่นประกอบ จังหวะ เช่น เคาะ เขย่า ตี

             (3) การเคลื่อนไหวตามเสียงเพลงดนตรี โดยการแสดงท่าทาง เคลื่อนไหวประกอบเสียงเพลง เสียงดนตรีหรือจังหวะช้าและเร็ว

             (4) การเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นและแสดงบทบาทสมมติเป็นตัวละครตามนิทาน เป็นต้น       

             (5) การทำกิจกรรมศิลปะต่าง ๆ  เช่น วาดภาพระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ร้อยลูกปัด  เป็นต้น

             (6) การเล่นอิสระ เช่น การเล่นที่ใช้จินตนาการ เล่นสมมติ การเล่นของเล่นในห้องเรียน บริเวณสนามกลางแจ้ง              

(7) การเล่นรายบุคคล กลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ เล่นเสรี

             (8) การเล่นตามมุมประสบการณ์ มุมเล่นในห้องเรียน เล่นบทบาทสมมติ 

             (9)  การเล่นนอกห้องเรียน เล่นกลางแจ้ง เช่น เล่นเครื่องเล่นสนามรูปแบบต่าง ๆ เล่นน้ำ เล่นทราย การละเล่นพื้นบ้าน 

การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สำหรับเด็กปฐมวัย

             การที่เด็ก ๆ ได้ผ่านการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์แบบนี้ จะเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ ทำให้เด็กอารมณ์ดี สามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างไม่มีปัญหา ทำให้เด็กสามารถเติบโตไปได้อย่างมีความสุขในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *