หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 จัดทำขึ้นโดยยึดปรัชญาการศึกษาปฐมวัย วิสัยทัศน์หลักการ บนพื้นฐานแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปฐมวัยสากล และความเป็นไทย ครอบคลุมการอบรมเลี้ยงดูการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการ ตามวัยของเด็ก ตลอดจนเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้แก่เด็ก และมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ ด้วยความร่วมมือของสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ครอบครัว ชุมชน สังคม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย สู่การสร้างคนไทยที่มีศักยภาพในอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560

แนวคิดของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560-2

พัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยแนวคิด ดังนี้

แนวคิดของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560-3

1.แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก

พัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในตัวมนุษย์เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนตลอดชีวิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ พัฒนาการของเด็กจะมีลำดับขั้นตอนในลักษณะเดียวกันตามวัยของเด็ก แต่อัตราการเจริญเติบโต และระยะเวลาในการผ่านขั้นตอนต่างๆ ของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ โดยในชั้นตอนแรกๆ จะเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการขั้นต่อไป พัฒนาการประกอบด้วย

ด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งพัฒนาการแต่ละด้านมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน รวมทั้งส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน พัฒนาการแต่ละด้านมีทฤษฎีเฉพาะอธิบายไว้ และสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเด็กในแต่ละด้าน

อาทิ ทฤษฎีพัฒนาการด้านร่างกาย อธิบายว่า การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก มีลักษณะต่อเนื่อง เป็นลำดับขั้น เด็กจะพัฒนาถึงขั้นใดจะต้องเกิดวุฒิภาวะของความสามารถขั้นนั้นก่อน ทฤษฎีพัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ และสังคม ระบุว่า การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็กเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความรักและความอบอุ่นเป็นพื้นฐานสำคัญของความเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กมีความไว้วางใจในผู้อื่นเห็นคุณค่าของตนเอง มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เคารพผู้อื่น ซึ่งเป็น

พื้นฐานสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย และทฤษฎีพัฒนาการด้านสติปัญญา อธิบายว่า เด็กเกิดมา พร้อมวุฒิภาวะและความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตามอายุ ประสบการณ์ รวมทั้งค่นิยมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กจึงเป็นเสมือนหนึ่งแนวทางให้ผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจเด็กสามารถอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยและความแตกต่างของแต่ละบุคคล เพื่อส่งเสริม เฝ้าระวัง และช่วยแก้ไขปัญหาให้เด็กได้พัฒนาจนบรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการได้ชัดเจนขึ้น

2. แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมและการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการ

การพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม เป็นการคำนึงถึงความสมดุลและครอบคลุมพัฒนาการของเด็กให้ครบทุกด้าน ในการดูแล พัฒนา และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กต้องไม่เน้นที่ด้านใดด้านหนึ่ง จนละเลยด้านอื่นๆ ซึ่งในแต่ละด้านของพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา มีองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องการการส่งเสริมให้เด็กเจริญเติบโต และมีพัฒนาการสมวัยอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการ

เป็นแนวทางที่สำคัญในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรู้ความเข้าใจ ที่ประกอบด้วย ความเหมาะสม กับวัยหรืออายุของเด็ก ว่าพัฒนาการในช่วงวัยนั้นๆ ของเด็กเป็นอย่างไร ต้องการการส่งเสริมอย่างไร การมีความรู้ทางพัฒนาการตามช่วงวัย จะทำให้สามารถทำนายพัฒนาการในลำดับต่อไปได้ และสามารถวางแผนการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสม สำหรับความเหมาะสมกับเด็กแต่ละคนเป็นการคำนึงถึงเด็กเป็นรายบุคคลที่มีความชอบ ความสนใจ ความสามารถ และความถนัดที่แตกต่างกัน

โดยให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก เพื่อการปฏิบัติต่อเด็กที่คำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ และ ความเหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ เป็นการคำนึงถึงบริบทที่แวดล้อมเด็ก เพื่อให้ การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างมีความหมายและมีความเกี่ยวข้องกับตัวเด็ก ครอบครัว และชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่

ซึ่งความรู้ความเข้าใจดังกล่าว สามารถใช้ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ที่มีความหมาย การสร้างกลุ่มการเรียนรู้ร่วมกัน การประเมินพัฒนาการ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยกับผู้ปกครองและชุมชน โดยยึดหลักการตัดสินใจในการปฏิบัติบน ฐานความรู้ จากแนวคิดทฤษฎีและองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย

3. แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง

สมองของเด็กเป็น สมองที่สร้างสรรค์และมีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับอารมณ์ สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญมากที่สุด และมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยในช่วงนี้เซลล์สมองจะมีการพัฒนาเชื่อมต่อและทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย สำหรับในช่วงแรกเกิดถึงอายุ ๓ ปี จะเป็นช่วงที่เซลล์สมองเจริญเติบโตและขยายเครือข่ายใยสมองอย่างรวดเร็ว โดยปัจจัยในการพัฒนาของสมอง ประกอบด้วย พันธุกรรม โภชนาการ และสิ่งแวดล้อมสมองจะมีพัฒนาการที่สำคัญในการควบคุมและมีผลต่อการเรียนรู้ ความคิด จินตนาการ ความฉลาด และพัฒนาการทุกด้าน การพัฒนาของสมองทำให้เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าวัยใด

สำหรับแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง (Brain – based Learning) เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สัมพันธ์และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง โครงสร้างและการทำงานของสมองที่มีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับชั้นตามช่วงวัย และมีความยืดหยุ่นทำให้การพัฒนาสมองเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต การเชื่อมโยงต่อกันของเซลล์สมองที่เป็นเครือข่ายซับซ้อนและหนาแน่นจะเกิดขึ้นก่อนอายุ ๕ ปี ซึ่งเมื่อเซลล์สมองและจุดเชื่อมต่อเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นมากขึ้นเท่าใด ยิ่งทำให้สมองมีความสามารถในการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและจดจำได้มากขึ้น แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นจากประสบการณ์ที่เด็กได้รับอย่างหลากหลายจะไม่เกิดการเชื่อมต่อ

โดยการกระตุ้นจุดเชื่อมต่อเหล่านั้นเกิดจากการที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ ปฏิบัติด้วยตนเองผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมอง เป็นการเรียนรู้จากของจริงไปหาสัญลักษณ์ จากง่ายไปหายาก จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม โดยคำนึงถึงความสามารถตามวัยและพัฒนาการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมองเจริญเติบโตในช่วงวัยต่างๆ และเริ่มมีความสามารถในการทำหน้าที่ในช่วงเวลาที่ต่างกันจะเห็นว่าการเรียนรู้และทักษะบางอย่างจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งที่เรียกว่า “หน้าต่างโอกาสของการเรียนรู้” ซึ่งเมื่อผ่านช่วงเวลานั้นในแต่ละช่วงวัย ถ้าสมองไม่ได้รับการกระตุ้นหรือได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมโอกาสที่จะฝึกอาจยากหรือทำไมได้เลย ผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องจึงเป็นคนสำคัญที่จะต้องคอยสังเกต และใช้โอกาสนี้ช่วยเด็กเพื่อก้าวไปสู่ความสามารถเฉพาะด้านในแต่ละช่วงวัย

สำหรับช่วงปฐมวัยเป็นช่วงโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาทักษะสมอง หรือ EF (ExecutiveFunction) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และ การกระทำ โดยสมองส่วนนี้กำลังพัฒนามากที่สุด เป็นช่วงของการพัฒนาความสามารถในการคิด การจัดระเบียบตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการยับยั้งชั่งใจ การคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การใส่ใจจดจ่อการวางแผน การตั้งเป้าหมาย ความมุ่งมั่น การจดจำ การเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับ

ความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอนจนสำเร็จ ทักษะสมอง (EF) จึงเป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนในชีวิตประจำวันของเด็กผ่านประสบการณ์ต่างๆ หลากหลายที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ลงมือทำเพื่อให้เกิดความพร้อม และมีทักษะที่สำคัญต่อชีวิตในอนาคต

นอกจากนี้ สมองยังเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการเรียนรู้ภาษาและการสื่อสาร การเรียนรู้ภาษาแม่ของเด็กจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ จากการปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่และผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน และสถานการณ์รอบตัว สมองมีตำแหน่งรับรู้ต่างๆ กัน ได้แก่ ส่วนรับภาพ ส่วนรับเสียง ส่วนรับสัมผัสและรับรู้ การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย สมองส่วนต่างๆ เหล่านี้พัฒนาขึ้นมาได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการกระตุ้นของ

สิ่งแวดล้อมภายนอกโดยสมองเด็กมีความจำผ่านการฟัง ต้องการรับรู้ข้อมูลเสียงพร้อมเห็นภาพ เริ่มรู้จักเสียงที่เหมือนและแตกต่าง และสามารถเรียนรู้จังหวะของคำได้จากการฟังซ้ำๆ สมองของเด็กที่เข้าใจเกี่ยวกับภาพ เสียง และสัมผัสแบบต่างๆ มีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลจากภาพ เสียง และสัมผัสเหล่านี้จะก่อรูปขึ้นเป็น

เรื่องราวที่จะรับรู้และเข้าใจซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ได้ในที่สุด สมองส่วนหน้านั้นมีหน้าที่คิด ตัดสินใจ เชื่อมโยง การรับรู้ไปสู่การกระทำที่เป็นลำดับขั้นตอน สมองเด็กที่สามารถเรียนรู้ภาษาได้ดีต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมของภาษา ที่เรียนรู้อย่างเหมาะสมจึงจะเรียนรู้ได้ดี

4. แนวคิดเกี่ยวกับการเล่นและการเรียนรู้ของเด็ก

การเล่นเป็นกิจกรรมการแสดงออกของเด็ก อย่างอิสระตามความต้องการ และจินตนาการสร้างสรรค์ของตนเอง เป็นการสะท้อนพัฒนาการและการเรียนรู้ ของเด็กในชีวิตประจำวัน จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ บุคคล และสิ่งแวดล้อมรอบตัว การเล่นทำให้เกิด ความสนุกสนาน ผ่อนคลายและส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก

การเล่นของเด็กปฐมวัยจัดเป็นหัวใจสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม ซึ่งการเล่นอย่างมี ความหมายเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ขณะที่เด็กเล่นจะเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย จากการเล่นเด็กจะมีโอกาสเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้ใช้ประสาทสัมผัสและการรับรู้ ผ่อนคลายอารมณ์และแสดงออกถึงตนเอง ได้เรียนรู้ความรู้สึกของผู้อื่น เด็กจะ รู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้สังเกต มีโอกาสสำรวจ ทดลอง คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและค้นพบด้วยตนเอง

การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งแวดล้อม บุคคลรอบตัว และส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ก้าวหน้าไปตามวัยอย่างมีคุณภาพ การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ การเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และการถ่ายทอดจากผู้ที่มีประสบการณ์และมีความรู้มากกว่า ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะการคิดและความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาภาษา ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว

ทักษะพื้นฐานที่สำคัญและ ความสามารถในด้านต่างๆ ตลอดจนเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง บุคคล สิ่งต่างๆ และสถานการณ์รอบตัว การเรียนรู้ควรมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเป็นกิจกรรม ที่เปิดโอกาสให้เด็กเลือกตามความสนใจ ลงมือกระทำผ่านสื่อ อุปกรณ์ และของเล่นที่ตอบสนองการเรียนรู้และมีความยืดหยุ่น

การเรียนรู้ของเด็กส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลองผิด ลองถูก การได้สัมผัสกระทำ และการกระทำซ้ำๆ เด็กจะมีความสนใจ อยากรู้อยากเห็น เกิดการคันพบและการแก้ปัญหา ความเข้าใจในตนเอง และผู้อื่น ผู้ใหญ่ควรเป็นผู้สนับสนุนวิธีการการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างความท้าทายและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ จากประสบการณ์จริงด้วยตัวเด็กเองในสภาพแวดล้อมที่อิสระ เอื้อต่อการเรียนรู้และเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน

5. แนวคิดเกี่ยวกับการคำนึงถึงสิทธิเด็ก การสร้างคุณค่า และสุขภาวะให้แก่เด็กปฐมวัยทุกคน

เด็กปฐมวัยควรได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกคน โดยมีสิทธิในการอยู่รอด สิทธิได้รับการคุ้มครอง สิทธิในด้านพัฒนาการ และสิทธิการมีส่วนร่วมตามที่กฎหมายระบุไว้ เด็กแต่ละคนมีคุณค่าในตนเองและควรสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตให้เกิดกับเด็กจากการอบรมเลี้ยงดู และการให้การศึกษาที่มีคุณภาพ

พร้อมกับการส่งเสริมด้านสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา จากการได้รับโภชนาการที่ดีการดูแลสุขภาพอนามัย การมีโอกาสพักผ่อน เล่น การปกป้องคุ้มครองจากการเจ็บป่วย และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุตลอดจนการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย อนึ่ง สำหรับเด็กปฐมวัยที่เป็นกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ควรได้รับการดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนาอย่างเหมาะสมเช่นกัน

6.  แนวคิดเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูควบคู่การให้การศึกษา

การจัดการศึกษาปฐมวัยมุ่งพัฒนาเด็กบนพื้นฐานของการอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษา หรือการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนอย่างเป็นองค์รวม การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยหมายรวมถึง

การดูแลเอาใจใส่เด็กด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร การดูแลสุขภาพ โภชนาการและความปลอดภัยและการอบรมกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจดี มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น มีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม และมีทักษะชีวิตการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็ก การเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก และการปฏิบัติตนของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก ที่มุ่งตอบสนอง

ความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยมุ่งให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส มีความประพฤติดี มีวินัย รู้จักควบคุมตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การอบรมเลี้ยงดูที่มีผลดีต่อพัฒนาการ ของเด็ก คือ การที่ผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็กให้ความรัก ความอบอุ่น การยอมรับความคิดเห็นของเด็ก การใช้เหตุผล

ในการอบรมเลี้ยงดู ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กจะต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กใช้การสร้างวินัยเชิงบวกในการอบรมบ่มนิสัย ซึ่งจะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีเป้าหมายชีวิต มีวินัยในตนเอง มีสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่น สามารถจัดการกับความเครียดและปัญหาต่างๆ ได้

การอบรมเลี้ยงดูจึงเป็นแนวคิดสำคัญที่ครอบครัวและสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องปฏิบัติ อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน สำหรับการให้การศึกษาเด็กในช่วงปฐมวัยนั้น ผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกความรู้หรือสั่งให้เด็กทำ มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้โดยการจัดสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่หลากหลายผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัยให้เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ

จากการลงมือปฏิบัติและค้นพบด้วยตนเอง มีการกำหนดจุดมุ่งหมายและการวางแผนในการจัดประสบการณ์และกิจกรรม ทั้งรายบุคคล กลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจสังคม และสติปัญญา โดยคำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญและพัฒนาเด็กแต่ละคนอย่างเต็มศักยภาพ

7. แนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการ เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่เรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรม

ที่เหมาะสมตามวัย เป็นหน้าที่ของผู้สอนต้องวางแผนโดยบูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ ภาษาดนตรี และการเคลื่อนไหว คุณธรรม จริยธรรม สุขภาพอนามัย และศาสตร์อื่นๆ โดยไม่แบ่งเป็นรายวิชาแต่จะมีการผสมผสานความรู้ ทักษะกระบวนการ และเจตคติของแต่ละศาสตร์ในการจัดประสบการณ์ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้ในระดับชั้นอื่น ๆ เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติเหมาะสม

ตามวัยของเด็ก เพื่อพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้บูรณาการผ่านสาระการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย ประสบการณ์สำคัญด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา และสาระที่ควรเรียนรู้ ได้แก่ ตัวเด็ก บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัวและสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก โดยออกแบบการจัดประสบการณ์และกิจกรรมที่ทำให้เกิดความหลากหลาย ภายใต้

สาระการเรียนรู้ทั้งประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ที่มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนามาตรฐานคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ของเด็ก และความสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาปฐมวัยของหลักสูตร โดยมีรูปแบบ การจัดประสบการณ์ตามความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาการเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ ประสบการณ์ การเรียนรู้ของเด็กจะจัดขึ้นโดยคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กที่เรียนรู้ผ่านการเล่น

การลงมือปฏิบัติ การสำรวจ การทดลอง การสร้างชิ้นงานที่สร้างสรรค์ และการเห็นแบบอย่างที่ดี การจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่าง หลากหลายจะช่วยตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลส่งเสริมความชอบ ความสนใจ และความถนัด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาอย่างรอบด้าน พัฒนาทักษะชีวิต และทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้อง กับธรรมชาติ และพัฒนาการตามวัยของเด็กที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การจัดประสบการณ์

การเรียนการสอนในระดับปฐมวัยยึดหลักการบูรณาการที่ว่า หนึ่งแนวคิดเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม หนึ่งกิจกรรมเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายทักษะและหลายประสบการณ์สำคัญ ดังนั้น ผู้สอนจะต้องวางแผน การจัดประสบการณ์ในแต่ละวันให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลายกิจกรรม หลากหลายทักษะ หลากหลาย ประสบการณ์สำคัญ อย่างเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ เพื่อให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560

8. แนวคิดเกี่ยวกับสื่อ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

ผู้สอนสามารถนำสื่อ เทคโนโลยี และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้มาสนับสนุนและเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยได้โดยสื่อเป็นตัวกลางและเครื่องมือเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่วางไว้ สื่อสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น สามารถเป็นบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ของเล่น ตลอดจนเทคนิควิธีการ ที่กำหนดไว้ได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ทำให้

สิ่งที่เป็นนามธรรมเข้าใจยากกลายเป็นรูปธรรม เกิดการเรียนรู้และค้นพบด้วยตนเอง การใช้สื่อการเรียนรู้ ต้องปลอดภัยต่อตัวเด็กและเหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจ ความชอบ และความต้องการของเด็กที่หลากหลาย ควรมีสื่อที่เป็นสื่อของจริง สื่อธรรมชาติ สื่อที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก สื่อสะท้อน วัฒนธรรม สื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น และสื่อเพื่อพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ให้ครบทุกด้าน ทั้งนี้ สื่อต้องเอื้อให้เด็กเรียนรู้ ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และส่งเสริมการลงมือปฏิบัติจริงของเด็ก

โดยการจัดสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยต้องเริ่มต้นจากสื่อของจริง ของจำลอง (3 มิติ) ภาพถ่าย ภาพโครงร่าง (2 มิติ และสัญลักษณ์จากรูปธรรมไปสู่นามธรรมตามลำดับสำหรับเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อการตอบสนอง ความต้องการและการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัยสามารถเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ของเล่นเด็ก และวิธีการใหม่ๆ

ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน การใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสมต้องเป็นการเลือกใช้อย่างมีจุดมุ่งหมาย เครื่องมือประเภทดิจิตอลและอิเล็กทรอนิกส์เป็น สิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป ควรใช้กับเด็กอย่างมีจุดมุ่งหมายและใช้เป็นสื่อปฏิสัมพันธ์ จำกัดช่วงเวลาในการใช้ และมีข้อตกลงในการใช้อย่างเหมาะสมกับวัย โดยใช้เป็นทางเลือกไม่บังคับใช้ และไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสื่อหลักส่วน

การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางจิตภาพ ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กรวมทั้งการส่งเสริมบรรยากาศที่ดีสำหรับการเรียนรู้ โดยมุ่งให้ผู้สอนและเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันสภาพแวดล้อมที่ดีควรสะอาด ปลอดภัย อากาศสดชื่น ผ่อนคลาย ไม่เครียด เด็กมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและพัฒนาการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

9. แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง

การประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยยึด วิธีการสังเกตเป็นส่วนใหญ่ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและสอดคล้องสัมพันธ์กับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ รวมทั้งกิจกรรมประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก สำหรับ

การส่งเสริมความก้าวหน้า และช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อพบเด็กล่าช้าหรือมีปัญหาที่เกิดจากพัฒนาการและการเรียนรู้ไม่ใช่การตัดสินผลการศึกษาและไม่ใช้แบบทดสอบในการประเมิน เป็นการประเมินตามสภาพจริงที่มีการ วางแผนอย่างเป็นระบบ ใช้วิธีการและเครื่องมือประเมินที่หลากหลายอย่างมีจุดมุ่งหมาย เหมาะสมกับศักยภาพ

ในการเรียนรู้และพัฒนาการตามวัยของเด็ก ตลอดจนรูปแบบการเรียนรู้ ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กที่มีการเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยใช้เรื่องราวเหตุการณ์ กิจกรรมตามสภาพจริงหรือคล้ายจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เด็กมีโอกาสแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆ

จากการปฏิบัติกิจกรรมหรือการสร้างงานที่เป็นผลผลิตเพื่อเป็นการสะท้อนภาพที่แท้จริง มีการนำเสนอหลักฐานในการประเมินที่น่าเชื่อถือในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อสื่อสารผลการประเมินให้แก่ครอบครัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก โดยสามารถบอกได้ว่าเด็กเกิดการเรียนรู้และมีความก้าวหน้าเพียงใด

ข้อมูลจากการประเมินพัฒนาการจะช่วยผู้สอนในการวางแผนการจัดกิจกรรมชี้ให้เห็นความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน ใช้เป็นข้อมูลในการสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก และขณะเดียวกันยังใช้ในการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาให้กับเด็กในวัยนี้ได้อีกด้วย

10. แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของครอบครัว สถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและชุมชน

การพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด และครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ ของเด็ก สถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะเป็นส่วนสำคัญที่อบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก จึงไม่เพียงแต่ แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กเท่านั้น แต่ยังต้องมีการทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชนที่มี รูปแบบต่างๆ เพื่อการพัฒนาเด็กร่วมกัน เช่น โปรแกรมการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองในการดูแลและพัฒนา เด็ก

โปรแกรมการช่วยเหลือครอบครัวและเด็กในด้านสุขภาพอนามัย โภชนาการ และการส่งเสริมพัฒนาการ การเยี่ยมบ้านเด็ก การสร้างช่วงรอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับอนุบาลกับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ หรือเข้าสู่สถานศึกษา การสื่อสารกับผู้ปกครองในช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสม การขออาสาสมัครผู้ปกครองที่ มีความสามารถหลากหลาย มีเวลา หรือต้องการช่วยเหลือสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่างๆ

การสนับสนุน การเรียนรู้ของเด็กที่บ้านที่เชื่อมต่อกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการ ตัดสินใจในการดำเนินงานของสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย การสร้างความร่วมมือให้ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม การให้บริการและสนับสนุนตลอดจนการเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก โดยการ มีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความไว้วางใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งการร่วมรับผิดชอบ สำหรับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ

11. แนวคิดเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นไทย และความหลากหลาย

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็ก สู่อนาคต อย่างไรก็ตาม เด็กเมื่อเกิดมาจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับอิทธิพล จากการปฏิบัติแบบดั้งเดิมตามประเพณี มรดก และการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ ค่านิยม และความเชื่อของบุคคลในครอบครัวและชุมชนของแต่ละที่ด้วย

โดยบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่หรือแวดล้อมรอบตัวเด็กมีอิทธิพลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน ผู้สอนควรต้องเรียนรู้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเด็กที่ตนรับผิดชอบ เพื่อช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาและเกิดการเรียนรู้และดำเนินชีวิตอยู่ในกลุ่มคนที่มาจากพื้นฐานเหมือนหรือต่างจากตน ได้อย่างราบรื่นมีความสุข เป็นการเตรียมเด็กไปสู่สังคมในอนาคตกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

การทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงความเป็นไทยที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งในด้านภาษา มารยาท คุณธรรมจริยธรรม ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม และที่สำคัญคือ หลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่เน้นความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน การใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรมโดยในการจัดการศึกษาต้องมีการคำนึงถึงทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย ความต้องการพิเศษ ที่เป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยสามารถพัฒนาให้เด็กมีความเข้าใจในตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ในแนวคิดและความหลากหลายเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรอบด้าน โดยสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มีอัตลักษณ์ มีการวางแผน การจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการจัดกิจกรรมที่สร้างความเชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรม ความเป็นไทยและความหลากหลาย

caption

💬เข้าใจ #แนวคิด จะช่วยให้งานประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยสบายกว่าเดิม 👍

👀ส่องดู “แนวคิดของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560”

ซึ่งจะช่วยวางรากฐานให้กับเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

👍พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม 

👍ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็ก

🌈สู่การสร้างกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

 

📍หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 จะถูกพัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยแนวคิดใดบ้าง มาดูไปพร้อมกันไปเลย😉

 

======================================

#สอบถาม #สั่งซื้อ #สื่อการเรียนการสอน

.

📲 m.me/rathakun11/

📲 Line ID: @rathakun11 (ใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะคะ )

หรือ คลิ๊ก https://lin.ee/1yV7LXW

☎️ 081-6257458 , 0896911094

หจก.รัฐกุล  “ผู้ช่วยที่ดีที่สุดของคุณครูอนุบาล” 

.

#เอกสารประเมินพัฒนาการเด็ก #บัญชีเรียกชื่อ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *