การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมอง ด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แก่เด็กวัย 3-6 ปี นั้น หากเราแค่นั่งพูด ชี้สอนแนวทาง และให้เด็กๆ ท่องจำนั้น อาจไม่พอ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโต เด็กต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กวัยนี้มีโอกาสเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้สำรวจ เล่น ทดลอง ค้นพบด้วยตนเอง ได้มีโอกาสคิดแก้ปัญหา เลือก ตัดสินใจ ใช้ภาษาสื่อความหมาย คิดริเริ่มสร้างสรรค์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ดังนั้นการจัดประสบการณ์ในรูปแบบของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่นด้วยการปฏิบัติจริง ทั้งในลักษณะที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาพจริงโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ทำให้เด็กกล้าวางแผน ตัดสินใจ ลงมือกระทำและกล้าที่จะนำเสนอความคิด โดยสอดแทรกทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนคุณธรรม จริยธรรม และการมีวินัย เมื่อเด็กเกิดความกระตือรือร้น จะยิ่งทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ตรง ทักษะ เจตคติ ทั้งยังพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาอีกด้วย ซึ่งการกำหนดระยะเวลาในการจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรม ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของเด็กในแต่ละวัน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการและความสนใจของเด็ก เช่น เด็กวัย 3-4 ปี มีความสนใจในแต่ละกิจกรรมประมาณ 8-12 นาที เด็กวัย 4-5 ปี มีความสนใจในแต่ละกิจกรรมประมาณ 12-15 นาที เด็กวัย 5-6 ปี มีความสนใจในแต่ละกิจกรรมประมาณ 15-20 นาที ทั้งนี้กิจกรรมที่ต้องออกกำลังกายควรจัดสลับกับกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้กำลังกายมากนัก เพื่อเด็กจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป โดยสามารถจัดประสบการณ์ตามกิจกรรมประจำวันได้ดังนี้
1.กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
การเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ โดยใช้เสียงเพลง คำคล้องจอง เครื่องเคาะจังหวะ และอุปกรณ์อื่นๆ มาประกอบการเคลื่อนไหวได้ไม่ว่าจะเป็น การปรบมือ การร้องเพลง การเคาะไม้ กรุ๋งกริ๋ง รำมะนากลอง กรับ เพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก ฝึกทักษะภาษา ฝึกฟังคำสั่งและข้อตกลง เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี กล้าแสดงออก ฝึกให้เกิดทักษะในการฟังดนตรี หรือจังหวะต่าง ๆ และยังช่วยฝึกความจำ เสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
2.กิจกรรมเสริมประสบการณ์ / กิจกรรมในวงกลม
กิจกรรมเสริมประสบการณ์ / กิจกรรมในวงกลม เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการ เรียนรู้ มีทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การสังเกต การคิดแก้ปัญหา การใช้เหตุผล โดยการฝึกปฏิบัติร่วมกัน และการทำงานเป็นกลุ่ม เช่น การทำอาหารหรือเพาะปลูก การเล่านิทาน การทดลอง/ปฏิบัติการ การศึกษานอกสถานที่ เล่นเกม รวมถึงการเล่นบทบาทสมมติโดยจำลองสถานการณ์จริง ทั้งนี้ผู้สอนควรใช้คำถามปลายเปิดที่ชวนให้เด็กคิด หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่มีคำตอบ “ใช่” “ไม่ใช่” หรือเป็นคำตอบที่ต้องให้เด็กเลือก เพื่อฝึกการใช้ภาษาในการฟัง พูด และการถ่ายทอดเรื่องราว ฝึกมารยาทในการฟังและการพูด ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการสังเกต เปรียบเทียบ ช่วยส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ ส่งเสริมการเรียนรู้การค้นพบด้วยตนเอง และฝึกให้กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
3.กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิด การรับรู้เกี่ยวกับความงาม และส่งเสริม กระตุ้นให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยใช้กิจกรรมศิลปะ การวาดภาพระบายสี การพิมพ์ภาพด้วยวัสดุต่างๆ การปั้น การพับ ฉีก ตัด ปะ และการประดิษฐ์ เช่น การประดิษฐ์เศษวัสดุการร้อย การสาน หรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยและสอดคล้องกับจุดประสงค์ต่างๆ ได้แก่ การพัฒนากล้ามเนื้อมือ และตาให้ประสานสัมพันธ์กัน ฝึกให้ชื่นชมในสิ่งที่สวยงาม เพื่อส่งเสริมการแสดงออกและความมั่นใจในตนเอง เพื่อฝึกทักษะการสังเกต และการแก้ปัญหา ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจินตนาการ
4.กิจกรรมการเล่นตามมุม
กิจกรรมการเล่นตามมุม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามมุมเล่น หรือมุมประสบการณ์ที่เรากำหนดเป็นพื้นที่เล่นที่จัดไว้ในห้องเรียน ซึ่งพื้นที่หรือมุมต่างๆเหล่านี้เด็กมีโอกาสเลือกเล่นได้อย่างเสรีตามความสนใจและความต้องการของเด็ก หรือครูอาจจัดจำลองเป็นมุมบ้าน มุมห้องครัว มุมโรงพยาบาล มุมร้านค้า มุมหนังสือ หรือมุมวิทยาศาสตร์ ศึกษาธรรมชาติเป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้รู้จักปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีวินัยเชิงบวก รู้จักการรอคอย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้อภัย และแน่นอนว่าเป็นการส่งเสริมให้เด็กพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการ
5.กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง
กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้มีโอกาสออกไปนอกห้องเรียนเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายออกกำลัง และแสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดความสนใจและความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กเรียนรู้การระมัดระวัง รักษาความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่นฝึกการตัดสินใจ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
6.เกมการศึกษา
เกมการศึกษา (Didactic games) เป็นเกมที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา และช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้เป็นพื้นฐานการศึกษา เช่น เกมจับคู่ เกม Jigsaws เกมโดมิโน เกมเรียงลำดับ เกมการจัดหมวดหมู่ รวมถึงเกมพื้นฐานการบวก เพื่อฝึกให้เด็กสามารถจำแนก แยกประเภท และการเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นสี รูปร่าง จำนวน ประเภท จากการสังเกต และยังช่วยส่งเสริมการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ทำให้เด็กสามารถคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาได้และยังฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย