How to สร้างสุขในทุก ๆ การเรียนรู้ สำหรับเด็กปฐมวัย-1 หจก.รัฐกุล เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง เอกสารการประเมินพัฒนาการเด็กระดับปฐมวัย

ในช่วงวัยของเด็กอนุบาล ตั้งแต่ 3 – 6 ขวบ จัดเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญ เหมาะแก่การส่งเสริมและสร้างพัฒนาการให้เด็กปฐมวัยแต่ละคนได้มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ทุกด้าน  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ระบุให้รัฐต้องให้การศึกษาปฐมวัยกับเด็กไทยทุกคน ดังที่ปรากฏในหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตราที่ 54 โดยมีใจความว่า…

“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ถึงแม้ว่าการศึกษาในช่วงชั้นปฐมวัยจะมีความสำคัญขนาดไหน แต่ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า…การส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กวัยอนุบาลนั้น เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และ สติปัญญา อันจะช่วยให้เด็กเติบโตไปอย่างเป็นคนมีคุณภาพ ไม่ใช่การศึกษาที่มุ่งเน้นวิชาการหรือเร่งรัดการเรียน เขียน อ่าน ให้กับเด็กในช่วงวัยนี้  เพราะการเร่งรัดให้เด็กปฐมวัย เรียน เขียน อ่าน ก่อนวัยเกินไป มันจะไม่สอดคล้องกับพัฒนาการและธรรมชาติของเด็ก โดยจะไปลดทอนศักยภาพของสมองอันจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ในระยะยาว

ทางที่ดีคือคุณครูปฐมวัยควรจะต้องจัดประสบการณ์การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการให้กับเด็กวัยอนุบาลแบบเตรียมความพร้อม ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป เน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะในทุก ๆ ด้าน โดยการจัดการชั้นเรียนให้อยู่ในสภาพความพร้อม เพื่อจะได้ดำเนินการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อตัวเด็กปฐมวัยอย่างประสบความสำเร็จมากที่สุด

         สำหรับแนวทางการส่งเสริมด้านวิชาการให้กับเด็กปฐมวัยสามารถเรียน เขียน อ่าน ได้อย่างสนุกและมีความสุข สามารถทำได้ ดังนี้

-แบบเรียนต้องมีสีสันสดใส รูปภาพประกอบน่ารัก

         การมีแบบเรียนที่มีสีสันสดใส มีรูปภาพประกอบน่ารัก ถือว่าเป็นสุดยอดเคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเกิดความผ่อนคลายในการเรียน พร้อมยังช่วยกระตุ้นให้เด็กปฐมวัยมีความสนใจต่อบทเรียนอย่างเต็มใจ สำหรับเนื้อหาด้านในแบบเรียนก็ควรมีเนื้อหาที่ไม่อัดแน่นจนเกินไป อย่างใน 1 หน้าก็ควรมีสาระสำคัญแค่อย่างละนิดอย่างละหน่อย ทำน้อย ๆ แต่ทำบ่อย ๆ และทำซ้ำ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ เกิดความเหนื่อยล้าขณะเรียนรู้บทเรียน ควรค่อย ๆ เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุด

-สร้างความเป็นกันเองให้กับเด็ก

หากอยากสร้างความเป็นกันเองกับเด็ก ๆ วัยอนุบาล ง่าย ๆ เลยก็คือ จะต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้อบอุ่น มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยหากคุณครูพบว่าเด็กไม่มีสมาธิ ยังไม่พร้อมที่จะเรียน ก็ให้พาเด็ก ๆ ไปสู่ความสนใจในเรื่องอื่นก่อน ชวนเด็ก ๆ คุยในเรื่องที่เด็ก ๆ กำลังสนใจ วิธีการเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เหล่าเด็กปฐมวัยเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

-มอบคำชื่นชมเป็นรางวัลให้เด็กเสมอ

ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ เรายังต้องการคำชื่นชมมาสร้างกำลังใจทำให้รู้สึกหายเหนื่อยเลย แล้วทำไมเด็ก ๆ ถึงจะไม่ต้องการ ?  การมอบคำชมให้กับเด็ก  ๆ ถือเป็นยากระตุ้นชั้นดี ที่จะช่วยเสริมสร้างแรงกายแรงใจให้เด็กปฐมวัยมีใจพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และมีแรงกระตุ้นในการทำงานที่ได้มอบหมายจนเสร็จสิ้น

-ต้องต่อรองอารมณ์เด็กให้เป็น

ต้องพยายามเข้าใจและเอาใจใส่อารมณ์ของเด็ก หากเด็กเกิดงอแง ไม่อยากทำแบบเรียน คุณครูอาจยื่นข้อเสนอ อย่างเช่น ถ้าทำเสร็จวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะสบาย ไม่ต้องเขียนเยอะ ไม่เรียนหนัก เด็ก ๆ ก็จะเริ่มมีกำลังใจในการเรียน เขียน อ่านอย่างแฮปปี้ ความเอาใจใส่และการเข้าใจในตัวเด็กจัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เด็กปฐมวัยมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่มั่นคง และพร้อมสำหรับการเรียนรู้

-ปรับบทเรียนให้เข้ากับอารมณ์ของเด็กในเวลานั้น ๆ

หากพบว่าเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่อยู่ในความพร้อมที่จะเรียนจริง ๆ  ไม่ไหวอย่าฝืน คุณครูปฐมวัยก็ไม่ควรบังคับให้เด็ก ทำแบบเรียน เขียน อ่าน แต่อาจจะเปลี่ยนวิธีการสอน ปรับบทเรียนให้เข้ากับอารมณ์ของเด็ก พาเด็กทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนแต่อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจ เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการอย่างสร้างสรรค์

-พยายามปลูกฝังวินัยให้กับเด็ก

จะต้องพยายามจัดการชั้นเรียนอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ แบ่งเวลาในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น 10 โมงจะเป็นช่วงเวลาของเรียน เขียน อ่าน 11 โมงจะเป็นช่วงเวลาของการเล่นสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ หากดำเนินการทุกอย่างอย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน ก็จะไม่ค่อยเจอพฤติกรรมที่ต่อต้านในการเรียน เขียน อ่านของเด็ก ๆ พยายามค่อย ๆ ให้เด็กปรับตัวกับการเรียนไปอย่างช้า ๆ

หากอยากสร้างสุขในทุก ๆ การเรียนรู้ สำหรับเด็กปฐมวัย เรียน เขียน อ่าน แฮปปี้ สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด ก็คือ การคะยั้นคะยอให้เด็ก ต้องอ่านให้ออก เขียนให้ได้ เพราะจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน มีผลต่อพัฒนาการโดยรวมของเด็กในอนาคตได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *