คุณครูต้องรู้ : ประเมินพัฒนาการยังไง ? ให้มีคุณภาพสูงสุด !

เด็กปฐมวัย  เป็นเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเรียนรู้ มีความซุกซน ชอบขยับเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา แถมยังมีความคิดที่เป็นอิสระ พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นรอบตัว ด้วยเหตุนี้เองทำให้เด็กในวัยนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ อารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา

ครูปฐมวัย  จึงนับว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญรองจากผู้ปกครองของเด็ก ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่วางรากฐานการพัฒนาของเด็กให้เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนต้องรับผิดชอบในการปูพื้นฐานความรู้เชิงวิชาการให้กับเด็กอย่างมั่นคง รวมไปถึงเป็นแบบอย่างที่ดีอันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเด็กแต่ละคนให้ได้มากที่สุด

1 ในบทบาทหน้าที่อันสำคัญของคุณครูปฐมวัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้บอกไว้ คือ บทบาทหน้าที่ในการประเมินพัฒนาการของเด็ก เพื่อให้ทราบระดับความสามารถด้านต่าง ๆ ของเด็กอนุบาล รวมทั้งใช้ผลการประเมินเป็นข้อมูลการวางแผนทุกด้าน เช่น ด้านการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร เพื่อส่งเสริมเด็กปฐมวัยให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น

หลักการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย มีดังนี้…

  1. ประเมินพัฒนาการของเด็กครบทุกด้านและนำผลมาพัฒนาเด็ก
  2. ประเมินผลเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดปี
  3. สภาพการประเมินควรมีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน
  4. ประเมินอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน เลือกใช้เครื่องมือและจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
  5. ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะกับเด็ก

ขั้นตอนการประเมินพัฒนาการ

         การประเมินพัฒนาการตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพนั้น เกิดขึ้นในห้องเรียนขณะจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของเด็ก มีขั้นตอนดังนี้

1. การวิเคราะห์มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์ และการกำหนดประเด็นการประเมิน

         คุณครูปฐมวัยจะต้องวิเคราะห์มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์ และกำหนดสิ่งที่จะประเมินจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เพื่อวางแผนการประเมินพัฒนาการและการตรวจสอบทบทวนความถูกต้อง ความครอบคลุมและความเชื่อมโยง อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ ดังนี้
    1.1 การวิเคราะห์มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์
    1.2 การกำหนดประเด็นการประเมิน

2. การกำหนดวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินพัฒนาการ

         เมื่อคุณครูปฐมวัยกำหนดประเด็นการประเมินพัฒนาการได้ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การกำหนดวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินพัฒนาการ คุณครูปฐมวัยต้องวางแผนและกำหนดวิธีการประเมินให้เหมาะสมกับกิจกรรม โดยวิธีการที่คุณครูปฐมวัยเลือกใช้ต้องมากกว่า 2 วิธีการ หรือใช้วิธีการหลากหลาย ซึ่งวิธีการที่เหมาะสมและนิยมใช้ในการประเมินเด็กปฐมวัย มีดังต่อไปนี้
    2.1 การสังเกตและการบันทึก
    2.2 การบันทึกการสนทนา
    2.3 การสัมภาษณ์
    2.4 สารนิทัศน์สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อการประเมินพัฒนาการ
    2.5 การประเมินการเจริญเติบโตของเด็ก

3. การกำหนดเกณฑ์การประเมินและระดับคุณภาพ

         การกำหนดเกณฑ์การประเมินและการให้ระดับคุณภาพผลการประเมินพัฒนาการของเด็ก ทั้ง 4  ด้าน ในแต่ละสภาพที่พึงประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การผ่านตัวบ่งชี้และมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้นในระดับชั้นเรียนและระดับสถานศึกษาควรกำหนดในลักษณะเดียวกัน สถานศึกษาสามารถกำหนดเกณฑ์การประเมินและการให้ระดับคุณภาพผลการประเมินพัฒนาการของเด็กที่สะท้อนมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์หรือพฤติกรรมที่จะประเมิน เป็นระบบตัวเลข เช่น 3,2,1 หรือเป็นระบบที่ใช้คำสำคัญ เช่น ดี, พอใช้, ควรส่งเสริม ตามที่สถานศึกษากำหนด

4. การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล

         การเก็บรวบรวมข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการเด็กตามสภาพที่พึ่งประสงค์ ผู้สอนควรเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล โดยสภาพที่พึงประสงค์ 1 ตัว ควรได้รับการประเมินพัฒนาการอย่างน้อย2 ครั้ง ต่อ 1 ภาคเรียน ระยะแรกควรเป็นการประเมินเพื่อความก้าวหน้าไม่ควรเป็นการประเมินเพื่อตัดสินพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น การเก็บรวบรวมข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการ ตามสภาพที่พึงประสงค์จึงเป็นการสะสมเพื่อยืนยันว่าเด็กเกิดพัฒนาการตามสภาพที่พึงประสงค์นั้น ๆ ชัดเจนและมีความน่าเชื่อถือ

5. การสรุปผลการประเมินพัฒนาการ

         สำหรับแนวทางการสรุปผลการประเมินพัฒนาการเด็กตามสภาพที่พึงประสงค์ในแต่ละตัวบ่งชี้ควรใช้ฐานนิยม (Mode) ไม่ควรนำค่าระดับคุณภาพของสภาพที่พึงประสงค์มาหาค่าเฉลี่ย โดยคำนึงถึงปรัชญาการศึกษา และหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560 รวมทั้งการนำข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการไปใช้เพื่อพัฒนาเด็กต่อไป

6. การรายงานผลการประเมินพัฒนาการและการนำข้อมูลไปใช้
         ซึ่งสถานศึกษาต้องสรุปผลการประเมินพัฒนาการ และจัดทำเอกสารรายงานให้ผู้ปกครองทราบเป็นระยะ ๆ หรืออย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยแต่ละคนได้ทราบถึงพัฒนาการในด้านต่างๆ ของบุตรหลาน ได้รับรู้ความสามารถและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ทำให้  ผู้ปกครองเข้าใจในตัวบุตรหลาน ซึ่งเป็นผลดีทำให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสในการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละด้านที่ยังขาด และยังสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของเด็กได้เหมาะสมต่อไป

#สอบถาม #สั่งซื้อ #สื่อการเรียนการสอน
.
📲 m.me/rathakun11/
📲 Line ID: (ใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะคะ )
หรือ คลิก https://bit.ly/3PpzYDC
☎️ 081-6257458 , 0896911094
รัฐกุล “ผู้ช่วยที่ดีที่สุดของคุณครูอนุบาล”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *