การให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม
  1. เด็กพูดช้า

เด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดไม่เป็นไปตามอายุ เช่น  เด็กอายุ 3 ปีแล้ว พูดเป็นประโยคสั้นๆ ไม่ได้ หรือสื่อสารกับ คนอื่นไม่ได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ไม่กระตุ้นให้เด็กพูดหรือสื่อสาร  เด็กที่มีความบกพร่อง ทางการได้ยิน หรือเด็กมีความบกพร่องทางพัฒนาการ เช่น เด็กดาวน์ เด็กสมองพิการ เด็กออทิสติก เป็นต้น ดังนั้นควรชักชวนพูดคุยในสิ่งที่เด็กกำลังสนใจ อาจจะสอนให้พูดคำง่าย ๆ โดยไม่บังคับว่าเด็กต้องออกเสียง หรือพูดตาม หากเด็กมีอาการบกพร่องทางการได้ยิน ควรพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม

  1. เด็กพูดติดอ่าง

มีลักษณะการพูดที่ตะกุกตะกัก พูดไม่คล่อง ซึ่งอาจเกิดจากความวิตกกังวลจากการเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ เช่น เข้าโรงเรียนใหม่ หรือบางทีเด็กอาจได้รับการบาดเจ็บทางสมอง หรือการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว เช่น เร่งให้เด็กพูดเร็ว ดุด่าเมื่อเด็กพูดไม่คล่อง ทำให้เด็กไม่กล้าพูด ดังนั้นการเป็นผู้ฟังที่ดี รอให้เด็กพูดจนจบ ไม่พูดแทรก ซึ่งในขณะนั้นครูต้องไม่แสดงสีหน้า ท่าทางที่ทำให้เด็กไม่มั่นใจ เช่น จ้องหน้าหรือโมโห พร้อมกับเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด โดยพูดช้าๆ สั้นๆ ชัดเจน

  1. เด็กเล่นอวัยวะเพศ

เด็กมักชอบลูบคลำอวัยวะเพศ  ชอบนอนคว่ำหนีบขาถูไถอวัยวะเพศกับพื้น ซึ่งอาจมีผลมาจากเด็กมีความสนใจในเรื่องเพศอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของเพศชายและหญิง ซึ่งวิธีช่วยคือ ไม่แสดงพฤติกรรมน่าละอาย หรือดุด่า แต่ควรเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปเรื่องอื่น เช่น ชวนเด็กเล่น ร้องเพลง หรือเล่านิทาน  

  1. เด็กกัดเล็บ ดูดนิ้ว

เด็กกัดเล็บตลอดเวลาที่ว่าง จนเล็บกุดแหว่ง หรือชอบดูดนิ้ว อาจเพราะเด็กมีความรู้สึกเหงา หรือเครียด หรือมาจากการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ดุมาก เจ้าระเบียบ หรือปกป้องมากเกินไป หรือเกิดจากความไม่กล้าแสดงออกทางอารมณ์ เช่น เมื่อโกรธ จะกัดเล็บแทน ดังนั้นทางช่วย คือการกอดให้ความอบอุ่น หากิจกรรมที่น่าสนใจอย่าให้เด็กอยู่ว่าง หรือบอกให้รู้ถึงอันตรายจากการกัดเล็บหรือดูดนิ้ว หากไม่สามารถแก้ได้ ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็ก

  1. เด็กมีอาการติ๊ก

เด็กกลุ่มนี้จะมีการกระตุกช้าๆ ของกล้ามเนื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น อาการขยิบตา กระตุกมุมปาก ยักไหล่ ส่ายหัวไปมา สะบัดคอหรือมีการเปล่งเสียงแปลกๆ ซึ่งอาจเกิดจากสื่อประสาทในสมอง อย่างโดปามีน (Dopamine) พันธุกรรม หรือเกิดจากการเลี้ยงดูที่เข้มงวด วิธีช่วยเหลือคือ ทำบรรยากาศให้ผ่อนคลายให้เด็กรู้สึกสบายใจและปลอดโปร่ง แต่หากเป็นติดต่อกันและช่วยเหลือแล้วไม่หายอาจแนะนำให้ไปพบแพทย์หาทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

  1. เด็กปัสสาวะรดที่นอน

เด็กอาจมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้เมื่อถึงวัย  หรืออาจเกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เด็กกลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน หรือได้รับการเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการฝึกนิสัยในการขับถ่ายที่ถูกต้อง ดังนั้นครูควรให้ลดน้ำดื่ม หรืออาหารที่มีรสจัด และควรให้เด็กปัสสาวะก่อนนอน ปลุกให้เด็กปัสสาวะตามเวลาทุกวันจนกว่าเด็กจะเคยชินและลุกขึ้นมาปัสสาวะเองได้เมื่อปวด  พร้อมให้คำชมเชยเมื่อเด็กไม่ปัสสาวะรดที่นอนแต่ถ้าไม่สามารถแก้ได้ แนะนำให้เด็กไปพบแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

  1. เด็กเข้ากับเพื่อนไม่ได้

เด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบรังแก เล่นรุนแรง ก่อเรื่อง ชวนทะเลาะ นั่นเป็นเพราะเขาอาจขาดความรักจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่บางคนเลี้ยงดูเด็กอย่างเข้มงวด ทำให้เด็กเกิดความเครียดและมาแสดงออกกับผู้อื่น บางคนเห็นแบบอย่างที่ก้าวร้าวจากบุคคลแวดล้อมและโทรทัศน์ หรือเด็กอาจไม่ค่อยมีโอกาสเล่นกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งการให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ไม่ปล่อยให้อยู่กับเพื่อนๆตามลำพัง และหลีกเลี่ยงการยั่วยุให้เด็กโกรธ จะเป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุด ในขณะเดียวกันผู้สอนควรฝึกให้เด็กได้มีโอกาสเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนและชมเชย เมื่อทำงานได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม เด็กจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองทางด้านนี้มากขึ้น   สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้แต่ละปัญหาพฤติกรรมคือการใช้ความรัก และเข้าอกเข้าใจ สำหรับเด็กวัย 3-6 ปีนั้น ถือว่ายังเป็นช่วงวัยที่เราสามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาและแก้ไขได้ทันท่วงทีอยู่ ไม่ใช่แค่ครูผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องแนะนำถึงผู้ปกครองในการช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เด็กสามารถโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เป็นเยาวชนที่ดีต่อไป