ทำไมการเล่นของเด็กจึงสำคัญ

ทำไมการเล่นของเด็กจึงสำคัญ

เพราะการเล่น เหมือนการฝึกวิชา ลับอาวุธของเขาค่ะ

ขณะที่เล่น ร่างกายเขาค่อยๆพัฒนา สมองเขาค่อยๆสร้างเส้นใยประสาท และบันทึกข้อมูล

และยิ่งการเล่นนั้นสนุกมากเท่าไร
การเรียนรู้ก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น

อย่าเผลอคิดว่าการเล่นของเด็กนั้น ไร้สาระ นะคะ
เพราะมันคืองานหลักของเขาเลยทีเดียว

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีมาตรฐานการศึกษาที่ดี จะส่งเสริมให้เด็กวัย 0-7 ปี เล่นให้เยอะ และเริ่มเรียนอ่านเขียน หลังจาก 7 ปีไปแล้ว

เพราะการอ่านออกเขียนได้คือ ปลายทาง
ต้นทางคือการเตรียมพร้อมทักษะต่างๆของเขา

เด็กที่เขียนหนังสือได้คล่อง ไม่ใช่เพราะนั่งเขียนกันทั้งวันทั้งคืน แต่เพราะเขามีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดี มีการทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตาที่ดี

ซึ่งกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาได้ด้วยการเล่นเยอะๆค่ะ
เล่นดิน ทราย น้ำ ปั้นแป้ง หยิบของ หยอดบล็อกลงรูป ต่อบล็อกไม้ เลโก้ ช่วยเหลือตัวเอง ทำงานบ้าน

นอกเหนือจากการเขียนแล้ว ความสามารถด้านอื่นๆก็ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กค่ะ เช่น การเล่นดนตรี งานฝีมือ

แปลว่าเด็กที่เล่นมาเยอะกว่า มีแนวโน้มจะทำได้ดีกว่าค่ะ

ในด้านการอ่าน
เด็กที่อ่านหนังสือออก จับใจความได้ และรักการอ่าน ก็เพราะฟังนิทานและเล่นมาเยอะค่ะ

ยิ่งฟังนิทานเยอะ คลังคำศัพท์จะถูกเติมเข้ามาเรื่อยๆ จินตนาการจะยิ่งพอกพูน ลองสังเกตดูนะคะ เด็กชอบนิทานเรื่องไหน เขาจะเล่นบทบาทสมมติตามนิทานเรื่องนั้น

นอกจากนี้แล้ว การอ่านหนังสือนิทานให้ฟังบ่อยๆ จะทำให้ความอยากรู้ อยากอ่านหนังสือออก ก็จะค่อยๆก่อตัวขึ้น

ดังนั้น สำหรับเด็กเล็ก (0-7 ปี) การเล่นของเขาจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่มันคือการเตรียมความพร้อมให้เขา เพื่อในวันที่เขาอยากจะทำอะไร เขาจะมีศักยภาพที่ทำได้เต็มที่

มาพาเด็กๆ เล่นกันเยอะๆนะคะ