วิธีฟื้นคืนเด็กพิเศษให้ปกติด้วยการศึกษา

เด็กพิเศษ หรือเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หมายถึง เด็กปฐมวัยช่วง 3-6 ปี ที่มีสภาพร่างกาย สติปัญญา อารมณ์หรือจิตใจที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางคนเริ่มเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ขณะคลอด หลังคลอด บางคนเป็นเมื่อเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือมีประสบการณ์สำคัญในชีวิตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ โดยเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนี้ถ้าได้รับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมควบคู่กับการบำบัดเด็กก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ในทางกลับกัน หากเด็กกลุ่มนี้ถูกปล่อยปะละเลย ในอนาคตจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่ยากเกินจะแก้ไข ดังนั้น วันนี้เราจะมาแนะนำแนวทางการดูแลและให้การศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มีวิธีการปฏิบัติเพื่อการป้องกัน การเฝ้าระวัง การค้นพบ การส่งต่อ การให้ความช่วยเหลือและการส่งเสริมการเรียนรู้ มีดังนี้

    1.การป้องกัน

การป้องกันและการดูแลความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพของตน เช่น การทำทางลาดสำหรับรถเข็น  การทำห้องน้ำคนพิการ การใช้สีเพื่อแบ่งแยกพื้นที่ที่เป็นคนละส่วนกันเพื่อความสะดวกของเด็กที่มีปัญหาด้านสายตา เป็นต้น และนอกจากนี้ครูควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยพวกสิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์เครื่องเล่น และส่วนต่างๆ ของอาคารสถานที่ที่เด็กเข้าไปใช้ รวมทั้งความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม เครื่องใช้ และที่อยู่อาศัย และที่สำคัญต้องอย่าลืมที่จะดูแลถึงความปลอดภัยจากการข่มเหง รังแก หรือล่อลวงจากคนในสถานศึกษาและคนแปลกหน้าด้วย

    2.การเฝ้าระวัง

ครูผู้สอนต้องเฝ้าระวังการล่วงละเมิดทางร่างกาย จิตใจ และ/หรือทางเพศ โดยสังเกตร่องรอยบนร่างกายและพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กว่าอาจจะสะท้อนถึงการถูกล่วงละเมิดหรือไม่ เช่น เด็กมีอาการซึมเศร้า หวาดกลัวหรือหวาดระแวงอะไรหรือไม่ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยเฝ้าระวังความพิการหรือความบกพร่องทางพัฒนาการและการเจริญเติบโต  โดยการบันทึกน้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินการเจริญเติบโต และนำมาเปรียบเทียบพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งทางกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก ภาษา สติปัญญา ตลอดจนทางอารมณ์และสังคมของเด็กว่าล่าช้ากว่าพัฒนาการของเด็กปกติทั่วไปหรือไม่ นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังการมองเห็นและการได้ยินของเด็ก โดยผู้สอนสามารถคัดแยกการมองเห็นและการได้ยินอย่างง่ายๆ ในเด็กทุกคน ทุก 1-2 ปี เช่น การตรวจประเมินการมองเห็น โดยใช้แผ่นทดสอบระดับสายตาสำหรับเด็กเล็ก รวมถึงการทดสอบ-ประเมินการได้ยิน โดยให้เด็กนั่งเก้าอี้และปิดตา ผู้ทดสอบอยู่ทางด้านหลังของเด็กและถูนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ที่ข้างๆหูข้างใดข้างหนึ่งของเด็กห่างออกมาประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วให้เด็กยกมือข้างที่หูตนเองได้ยิน ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัยได้

    3.การค้นพบ การส่งต่อ

การเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบจะช่วยให้ผู้สอนค้นพบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ เมื่อค้นพบเด็กแล้ว ควรมีการส่งต่อให้แก่นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เช่น เมื่อสงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้า เนื่องจากเด็กไม่สามารถเข้าใจเรื่องต่างๆ ในชั้นเรียนและไม่สามารถพูดสื่อสารกับเพื่อนและผู้สอนได้ ผู้สอนอาจแนะนำ ให้ผู้ปกครองพาไป ตรวจประเมินพัฒนาการ หรือรับการตรวจเพื่อประเมินระดับสติปัญญาที่โรงพยาบาล และหากพบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของเด็กแล้ว บ้าน สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล หรือกรมประชาสงเคราะห์  ควรประสานงานเพื่อวางแผนร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กตามสมควรต่อไป

    4.การส่งเสริมการเรียนรู้

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการจัดการศึกษาให้แก่เด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะจะจัดในลักษณะของการจัดการเรียนรวม เพื่อให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมในสภาพแวดล้อมที่ปกติ แต่ครูผู้สอนก็ควรที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กอย่างต่อเนื่อง โดยต้องระลึกอยู่เสมอว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือเด็กปกติ ล้วนมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกันและการพัฒนาเด็กนั้นจะต้องอยู่บนระดับพัฒนาการของเด็กในปัจจุบันด้วย เช่น เด็กที่มีความแตกต่างไปจากเด็กปกติ  ครูผู้สอนควรแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ความรัก เอาใจใส่ และเลี้ยงดูเด็กกลุ่มนี้อย่างอบอุ่น และอาจแนะนำให้เข้ารับการศึกษาใน สถานศึกษาเฉพาะความพิการ เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอด  เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้และอยู่ร่วมกับ ผู้อื่นอย่างมีความสุข   หรือแม้กระทั่งเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ครูผู้สอนควรจัดบรรยากาศการเรียนและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษได้พัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงขีดสูงสุด โดยให้เด็กเรียนรู้ผ่านการสืบเสาะความรู้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือเรียนรู้ผ่านกิจกรรมตามความสนใจ และความถนัด ผู้สอนควรให้เด็กเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสอนให้รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ถือเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม และช่วยให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับเนื้อหาที่รู้แล้วหรือเข้าใจแล้วนั่นเอง เป็นต้น   และนี่คือ 4 ข้อที่เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ทั้งยังช่วยดันความสามารถพิเศษของเด็กให้ได้ถึงขีดสูงสุด ดังนั้นการวิเคราะห์และสังเกตถึงความพิเศษของเด็กแต่ละคนอย่างแม่นยำนอกจากจะช่วยให้เราแก้ปัญหาและช่วยเหลือเด็กแบบตรงจุดแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาเด็กให้โตมาเป็นเยาวชนที่ดีของสังคมได้ต่อไปได้อีกด้วยค่ะ