บอกต่อ…หลักเกณฑ์การประเมินตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย-1 หจก.รัฐกุล เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง เอกสารการประเมินพัฒนาการเด็กระดับปฐมวัย

การประเมินหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย คือกระบวนการที่ใช้ในการหาข้อมูลและข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาคุณภาพของหลักสูตร อันจะส่งผลช่วยให้เกิดการปรับปรุง พัฒนาหลักสูตร การบริหารหลักสูตร และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยให้เหมาะสมต่อไป โดยจะแบ่งออกเป็น การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้ และการประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้ เป็นการประเมินกระบวนการร่างหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย โดยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ในการร่างหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย จากนั้นตรวจสอบคุณภาพของร่างหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยเพื่อพิจารณาความสอดคล้อง เหมาะสมเกี่ยวกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย แล้วจึงค่อยประเมินความพร้อมก่อนนำหลักสูตรไปใช้

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย เป็นการประเมินหลักสูตรทั้งระบบหลังจากดำเนินการใช้หลักสูตรครบวงจรแล้ว โดยจะมีการตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยและสรุปผลภาพรวมของหลักสูตรที่จัดทำ

การประเมินหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของสถานศึกษาทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอนปฐมวัย คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนผู้ปกครอง และผู้แทนชุมชน เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยทั้งก่อนและหลังนำไปใช้ ดังนี้

ปรัชญาการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษา

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-แสดงแนวคิดและความเชื่อในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ชัดเจนครบถ้วน

-มีความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560

-มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย

-ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดปรัชญาการศึกษา

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-แนวคิดและความเชื่อของปรัชญาการศึกษาปฐมวัย ชัดเจน ครบถ้วน

-ส่งเสริมพัฒนาเด็กตามเป้าหมาย หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560

วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีความชัดเจนและสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษา

-แสดงความคาดหวังและวิธีการพัฒนาเด็กปฐมวัยในอนาคตได้ชัดเจน

-แสดงถึงจุดเน้น อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ที่ต้องการของสถานศึกษา

-ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนด

-มีการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการใน เชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-บรรลุผลปรัชญาการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษา

-บรรลุผลตามความคาดหวังในอนาคตได้ชัดเจน

-สอดคล้องจุดเน้น อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ที่ต้องการของสถานศึกษา

-บรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ

จุดหมาย

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีความสอดคล้องและครอบคลุมจุดหมายของหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย 2560

-มีความสอดคล้องกับปรัชญา วิสัยทัศน์การศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษา

-มีความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การปฏิบัติตามจุดหมายที่กำหนดในหลักสูตร

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-มีความสอดคล้องและครอบคลุมจุดหมายของหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-มีความสอดคล้องกับปรัชญา วิสัยทัศน์การศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษา

-นำไปสู่การปฏิบัติตามจุดหมายที่กำหนดในหลักสูตรได้

มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-นำมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสภาพที่พึงประสงค์ มากำหนดในหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยครบถ้วน

-นำมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสภาพที่พึงประสงค์มาจัดแบ่งกลุ่มอายุเด็ก และระดับชั้นเรียนได้ชัดเจน ครบถ้วน

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-นำมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสภาพที่พึงประสงค์ ไปใช้ได้ครบ

-นำมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสภาพที่พึงประสงค์ไปใช้กับเด็กทุกกลุ่มอายุและระดับชั้นเรียนได้ครบถ้วน

การจัดเวลาเรียน

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีการกำหนดเวลาเรียนต่อ 1 ปีการศึกษาไม่น้อยกว่า 180 วัน

-มีการกำหนดเวลาเรียนแต่ละวันไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง

-มีการกำหนดช่วงเวลาการจัดกิจกรรมประจำวันเหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-กำหนดเวลาเรียนต่อ 1 ปีการศึกษาได้ความเหมาะสม

-กำหนดเวลาเรียนแต่ละวันมีความเหมาะสม

-กำหนดช่วงเวลาการจัดกิจกรรมประจำวันมีความเหมาะสม

สาระการเรียนรู้รายปี

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวบ่งชี้สภาพที่พึงประสงค์ ในแต่ละช่วงวัย

-มีการกำหนดครอบคลุมประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ ตามหลักสูตร การศึกษาปฐมวัย 2560

-มีการจัดแบ่งสาระการเรียนรู้เหมาะสมกับช่วงเวลาในการจัดหน่วยประสบการณ์

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวบ่งชี้สภาพที่พึงประสงค์ ในแต่ละช่วงวัย

-มีความครอบคลุมประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560

-มีการจัดแบ่งสาระการเรียนรู้ได้เหมาะสมกับหน่วยประสบการณ์

การจัดประสบการณ์

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีกำหนดการจัดประสบการณ์โดยใช้หลักการบูรณาการผ่านการเล่นที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก

-มีรูปแบบการจัดประสบการณ์สอดคล้องกับปรัชญา วิสัยทัศน์ และจุดหมายของการจัดการศึกษาปฐมวัย

-มีกำหนดการจัดประสบการณ์แต่ละช่วงอายุที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก

-มีกำหนดการจัดประสบการณ์เน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติ ริเริ่มและมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้

-มีกำหนดการจัดประสบการณ์เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สื่อ และใช้แหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย

-มีกำหนดการจัดประสบการณ์ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิตและการปฏิบัติตนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

-มีกำหนดการจัดประสบการณ์ส่งเสริมการพัฒนาให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย และมีความเป็นไทย

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-ใช้หลักการบูรณาการผ่านการเล่นที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก

-มีความสอดคล้องกับปรัชญา วิสัยทัศน์และจุดหมายของการจัดการศึกษาปฐมวัย

-มีความเหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก

-เน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติ ริเริ่มและมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้

-เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลสื่อ และใช้แหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย

-ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิตและการปฏิบัติตนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

-ส่งเสริมการพัฒนาให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย และมีความเป็นไทย

การจัดสภาพแวดล้อม สื่อ และแหล่งเรียนรู้

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-ระบุแนวการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก

-มีสื่อที่หลากหลาย เหมาะสมและเพียงพอ

-มีแหล่งเรียนรู้ในและนอกสถานศึกษาที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-มีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางจิตภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก

-มีสื่อที่หลากหลายเหมาะสม เพียงพอ

-มีแหล่งเรียนรู้ในและนอกสถานศึกษาเหมาะสม เพียงพอต่อการจัดกิจกรรม

การประเมินพัฒนาการ

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีการประเมินพัฒนาการเด็กครอบคลุมมาตรฐานคุณลักษณะพึงประสงค์

-มีการประเมินพัฒนาการตามสภาพจริง

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-มีการประเมินพัฒนาการเด็กครอบคลุมมาตรฐานคุณลักษณะพึงประสงค์

-มีการประเมินพัฒนาการตามสภาพจริง

-มีร่องรอยการประเมินพัฒนาการเด็ก

-มีการรายงานผลการประเมินพัฒนาการแก่ผู้บริหาร ผู้ปกครอง หน่วยงานเกี่ยวข้อง

การบริหารจัดการหลักสูตร

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-มีความพร้อมด้าน ครู บุคลากร และข้อมูลสารสนเทศ

-มีงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอ

-มีการวางแผนการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา (ก่อน-ระหว่าง-หลังการใช้)

-มีแผนการนิเทศ ติดตามการนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยสู่การปฏิบัติ

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-มีความพร้อมด้าน ครู บุคลากร และข้อมูลสารสนเทศ

-มีงบประมาณและทรัพยากรเพียงพอ

-มีการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา

-มีการนิเทศ ติดตามการนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยสู่การปฏิบัติ

การเชื่อมต่อของการศึกษา

การประเมินก่อนนำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยไปใช้

-ผู้บริหารมีการวางแผนและสร้างความเข้าใจแก่ ผู้สอนปฐมวัย ผู้สอนประถมศึกษาที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนในการสร้างรอยเชื่อมต่อของหลักสูตรทั้งสองระดับ

-ครูผู้สอนปฐมวัยและประถมศึกษามีการแลกเปลี่ยนและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน

-มีแนวทางการจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมในการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1ของครูผู้สอนร่วมกันด้วยวิธีการหลากหลาย

-มีการจัดเตรียมข้อมูลสารสนเทศของเด็กปฐมวัยรายบุคคลส่งต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อการวางแผนพัฒนาเด็กร่วมกัน

การประเมินหลังการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

-ผู้บริหารสร้างความเข้าใจในการสร้างรอยเชื่อมต่อของหลักสูตรทั้งสองระดับ

-ครูผู้สอนปฐมวัยและประถมศึกษามีการแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกัน

-มีการจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมในการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของครูผู้สอนร่วมกันด้วยวิธีการหลากหลาย

-มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และหรือกิจกรรมสัมพันธ์ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจการศึกษาทั้งสองระดับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *