ฝึกเด็กให้คิดรวบยอดได้ดี คิดเชิงเหตุผลได้เป็น และคิดตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเอาตัวรอดได้ ต้องทำอย่างไร ?

ฝึกเด็กให้คิดรวบยอดได้ดี คิดเชิงเหตุผลได้เป็น-1 หจก.รัฐกุล เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง

ทักษะ “การคิด” ของเด็กปฐมวัย จัดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง อันมีผลมาจากการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั้งที่เด็กรู้ตัวและไม่รู้ตัว ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และเป็นทักษะที่เด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาได้ทุกคน การที่เด็กได้ฝึกคิด ได้สื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือมุมมองของตนเองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ออกมา จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนา “ทักษะทางด้านสติปัญญา” ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ต่อไป

“การคิด” ช่วยให้เด็กปฐมวัยได้รู้จักการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลขณะทำกิจกรรมที่ฝึกทักษะการคิดต่าง ๆ

“การคิด” ช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

“การคิด” ช่วยให้เด็กปฐมวัยมีโอกาสหาคำตอบในการแก้ปัญหา

“การคิด” ช่วยให้เด็กปฐมวัยเรียนรู้ความสามารถของศักยภาพทางการคิดของตนเอง

“การคิด” ช่วยให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

“การคิด” ช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นได้

การคิดรวบยอด คืออะไร ?

            การคิดรวบยอด คือ ภาพรวมของความเข้าใจที่สร้างขึ้นหรือสรุปจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นำมาเรียบเรียงและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ

การคิดเชิงเหตุผล คืออะไร ?

            การคิดเชิงเหตุผล คือ ความสามารถในการไตร่ตรองหาคําตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีฐานข้อมูลในการคิดมาจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับ

การคิดตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ คืออะไร ?

            การคิดตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ คือ กระบวนการเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง ที่ทำแล้วจะเป็นทางให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

ฝึกเด็กให้คิดรวบยอดได้ดี คิดเชิงเหตุผลได้เป็น และคิดตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเอาตัวรอดได้ ต้องทำอย่างไร ?

1.ฝึกให้เด็กสังเกตลักษณะ ส่วนประกอบ การเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ โดยใช้ประสาทสัมผัสอย่างเหมาะสม

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัย บอกลักษณะ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายของตนเอง สัตว์ พืช สิ่งของเครื่องใช้ ดิน น้ำ ท้องฟ้า บริเวณต่าง ๆ สอนให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของสิ่งดี ๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น ถ้าปล่อยสิ่งของจากที่สูงแล้วสิ่งของจะตกลงมา เพื่อให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสในการสังเกตอย่างเหมาะสม

2.ฝึกให้เด็กสังเกตสิ่งต่าง ๆ และสถานที่จากมุมมองที่ต่างกัน

            ยกตัวอย่างเช่น สังเกตสิ่งของ หรือสำรวจสถานที่ต่าง ๆ หรือ เล่นปีนป่ายเครื่องเล่นสนาม ลอดอุโมงค์ และบอกเกี่ยวกับลักษณะ พื้นที่ ระยะ ตำแหน่ง ของสิ่งของ สถานที่ หรือเครื่องเล่นจากมุมมองต่าง ๆ

3.ฝึกให้เด็กบอกและแสดงตำแหน่ง ทิศทาง และ ระยะทางของสิ่งต่าง ๆ ด้วยการกระทำ ภาพวาด ภาพถ่าย และรูปภาพ

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยได้เล่นเกมเกี่ยวกับมิติสัมพันธ์ เช่น วางสิ่งของในตำแหน่งที่กำหนด บอกชื่อสิ่งของ บอกตำแหน่ง ทิศทางหรือระยะทางของสิ่งของที่กำหนด ใช้ร่างกายเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งหรือไปตามทิศทางที่กำหนด เป็นต้น

4.ฝึกให้เด็กเล่นกับสื่อต่าง ๆ ที่เป็นทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก ทรงกระบอก กรวย

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยได้ทำกิจกรรมปั้นดินน้ำมันเป็นทรงกลม ทรงกระบอก ทรงสี่เหลี่ยม กรวย และตัดตามแนวนอน แนวตั้ง แนวเฉียง นำส่วนหน้าตัดไปพิมพ์ภาพ

5.ฝึกให้เด็กคัดแยก จัดกลุ่ม และจำแนกสิ่งต่าง ๆ ตามลักษณะและรูปร่าง รูปทรง

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยสังเกตสัตว์ ผลไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ดิน หิน ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้รอบตัว แล้วนำมาจำแนกตามลักษณะ รูปร่าง รูปทรง

6.ฝึกให้เด็กต่อของชิ้นเล็กเติมในชิ้นใหญ่ให้สมบูรณ์ และการแยกชิ้นส่วน

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยเล่น จิ๊กซอว์ไม้หมุด จิ๊กซอว์รูปภาพ ภาพตัดต่อ ตัวต่อ บล็อก และแยกชิ้นส่วนของเล่นเก็บเข้าที่

7.ฝึกให้เด็กทำซ้ำ ต่อเติม และสร้างแบบรูป

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยเล่นเกมการศึกษาต่าง ๆ เพื่อสัมผัสและใช้ของจริง เช่น วางบล็อก ไม้ไอศกรีม ใบไม้ เปลือกหอย ฝาขวด หรือวัสดุอื่น ๆ ให้เป็นแบบรูป

8.ฝึกให้เด็กนับและแสดงจำนวนของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยได้หยิบหรือแสดงสิ่งต่าง ๆ ตามจำนวนที่กำหนด เช่น หยิบจาน แก้วน้ำ ผลไม้ ดินสอ ดินน้ำมัน ของเล่น

9.ฝึกให้เด็กเปรียบเทียบและเรียงลำดับจำนวนของสิ่งต่าง ๆ

            ยกตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบจำนวนของสิ่งต่าง ๆ เช่น จำนวนเด็กชายกับเด็กหญิง จำนวนขนมกับจำนวนเด็ก จำนวนแก้วกับจำนวนแปรงสีฟัน โดยใช้การจับคู่กันและสังเกตว่าเท่ากันหรือไม่เท่ากัน มากกว่าหรือน้อยกว่า

10.ฝึกให้เด็กรวมและการแยกสิ่งต่าง ๆ

            ยกตัวอย่างเช่น นำบล็อกสองกองมารวมกันแล้วให้เด็กปฐมวัยนับและบอกจำนวนทั้งหมด หยิบสีเทียนจำนวนหนึ่งออกจากกล่องแล้วให้เด็กนับจำนวนสีเทียนที่เหลือในกล่อง

11.ฝึกให้เด็กบอกและแสดงอันดับที่ของสิ่งต่าง ๆ

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยบอกอันดับที่ของตนเองหรือเพื่อนที่ยืนอยู่ในแถว ชี้ หยิบ หรือวางสิ่งของตามอันดับที่กำหนด

12.ฝึกให้เด็กชั่ง ตวง วัดสิ่งต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือ และหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยมาตรฐาน

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยเล่นตวงทรายหรือน้ำ โดยใช้ภาชนะต่าง ๆ เช่น ช้อน แก้ว ขวด และบอกปริมาตรของทรายหรือน้ำที่ตวงตามจำนวนของภาชนะที่ใช้เป็นหน่วยในการตวง

13.ฝึกให้เด็กจับคู่ เปรียบเทียบ เรียงลำดับ สิ่งต่าง ๆ ตามลักษณะ ความยาว ความสูง น้ำหนัก ปริมาตร

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยเรียงลำดับความยาวหรือความสูง น้ำหนัก หรือปริมาตรของสิ่งของแต่ละชนิดตั้งแต่ 3 สิ่งขึ้นไป เช่น เรียงลำดับความสูงของเด็ก 3 คน เรียงลำดับน้ำหนักของผลไม้ 3 ชนิด เรียงลำดับปริมาตรของน้ำที่อยู่ในภาชนะ 3ใบ

14.ฝึกให้เด็กบอกและเรียงลำดับกิจกรรมหรือเหตุการณ์ตามช่วงเวลา

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยได้ทบทวนกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมประจำวันตามลำดับเวลา

15.ฝึกให้เด็กใช้ภาษาทางคณิตศาสตร์กับเหตุการณ์ในชีวิตประจาวัน

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยเล่นเกมจำแนกชนิดของเงิน เล่นเกมขายของ จัดกิจกรรมตลาดนัดให้เด็กฝึกการใช้เงินซื้อและทอนเงิน

16.ฝึกให้เด็กอธิบายเชื่อมโยงสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์หรือการกระทำ

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยสำรวจเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันและพูดคุยเกี่ยวกับสาเหตุและผลที่เกิดขึ้น เช่น กินอาหารแล้วไม่แปรงฟันจะทำให้ฟันผุ ถ้าตากฝนอาจจะทำให้เป็นหวัด การทิ้งขยะไม่ถูกที่จะทำให้บริเวณนั้นสกปรก

17.ฝึกให้เด็กคาดเดาหรือคาดคะเนสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล

            ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่คุณครูเล่านิทานก็ให้เด็กปฐมวัยคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมบอกเหตุผล ก่อนที่จะฟังเนื้อเรื่องต่อไป

18.ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมในการลงความเห็นจากข้อมูลอย่างมีเหตุผล

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็ก ๆ ปฐมวัยไปสำรวจต้นไม้ต่าง ๆ ในโรงเรียนแล้วมาลงความเห็น สรุปว่าได้พบต้นไม้ชนิดใดในโรงเรียนกันบ้าง

19.ฝึกให้เด็กตัดสินใจและมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา

            ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กปฐมวัยได้วางแผนร่วมมือกับคุณครูและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ในการลงมือแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกำจัดหรือลดปริมาณขยะ เป็นต้น

การจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย ควรเน้นพัฒนาการด้านความคิดให้เด็กเป็นคน “คิดเป็น” อันจะเป็นผลให้เด็กปฐมวัยสามารถใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาและตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในอนาคตได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *