สอนวิทย์ให้เด็กปฐมวัยอย่าเพิ่งคิดว่ายาก ! มาดูเรื่องราวของ “วิทยาศาสตร์กับเด็กปฐมวัย” ที่ครูอนุบาลต้องรู้

สอนวิทย์ให้เด็กปฐมวัยอย่าเพิ่งคิดว่ายาก !-1 หจก.รัฐกุล เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง

ก่อนอื่นเลย…ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การสอนวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยนั้นย่อมแตกต่างกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในเด็กโตแน่นอน และอย่าคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวเด็กอนุบาล  เพราะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในช่วงชั้นปฐมวัยเป็นการตอบสนองและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในการเรียนรู้โลกธรรมชาติรอบตัวและพัฒนาทักษะทางสติปัญญาต่าง ๆ ของเด็กเล็กวัยอนุบาลได้เป็นอย่างดี

เพียงแต่การเรียนการสอนสาระวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กอนุบาลจะไม่ได้เป็นการสอนแบบการให้รู้องค์ความรู้ แต่เป็นการให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เพราะเด็กอนุบาลยังไม่สามารถเรียนรู้อะไรที่เป็นนามธรรมได้

.          สำหรับสาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กปฐมวัยควรรู้และควรเรียน สามารถจำแนกเป็น  4  หน่วยการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

หน่วยที่  1 การสังเกตโลกรอบตัว

            ในหน่วยนี้จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยเข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน เข้าสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น  เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ  รับรู้ถึงกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของโลกที่สังเกตเห็นได้

หน่วยที่  2     การรับรู้ทางประสาทสัมผัสและการเรียนรู้

            ในหน่วยนี้จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าและใช้อุปกรณ์สำรวจอย่างง่าย ซึ่งจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก  เพื่อช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กในอนาคต

หน่วยที่  3 รู้ทรงและสิ่งที่เกี่ยวข้อง

            ในหน่วยนี้จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย สังเกต เปรียบเทียบ และลงข้อสรุปถึงลักษณะและรูปทรงต่าง ๆ ของทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

หน่วยที่  4 การจัดหมู่และการจำแนกประเภท

            ในหน่วยนี้จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยรู้จักการคิดรวบยอดและคิดเชิงเหตุผลได้ดี อาจจะต้องให้เด็กปฐมวัยสังเกตสัตว์ ผลไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ดิน หิน ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้รอบตัว แล้วนำมาจำแนก จัดหมวดหมู่ตามลักษณะ รูปร่าง รูปทรง และประเภท

ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จำเป็นต้องมีการฝึกฝนทักษะพื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้และมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์จากประสบการณ์ตรงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

โดยทักษะพื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ควรส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกทำ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองบ่อย ๆ สามารถแบ่งออกเป็น 6 ขั้น ได้ดังนี้  

1.การสังเกต 

คุณครูปฐมวัยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักสังเกต โดยการใช้ ตาดู ใช้หูฟัง  จมูกดมกลิ่น  ลิ้นชิมรส  กายสัมผัส

2.การจำแนกและเปรียบเทียบ 

            คุณครูปฐมวัยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการจำแนกและเปรียบเทียบซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ใช้ในการจัดระเบียบข้อมูล  เด็ก ๆ จะต้องสามารถเปรียบเทียบและบอกคุณสมบัติอันแตกต่างของสิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรือ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้

3.การวัด 

            คุณครูปฐมวัยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการรวบรวมข้อมูลและตัดสินเพื่อบอกขนาด  ปริมาณของสิ่งที่เห็นตรงหน้าได้

4.การสื่อสาร 

            คุณครูปฐมวัยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  อภิปรายสิ่งที่ค้นพบ บอกและบันทึกสิ่งที่สังเกตพบเจอออกมาได้

5.การทดลอง 

            คุณครูปฐมวัยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการทดลองทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ มีการควบคุมให้เด็กทำอย่างมีระเบียบวิธี  มีการสังเกตอย่างมีความหมาย 

6.การสรุปและการนำไปใช้

            คุณครูปฐมวัยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักการสรุปข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ เด็ก ๆ จะต้องสามารถบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้น  เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด และจะมีผลอย่างไร

เป้าหมายของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ วัยอนุบาล ก็เพื่อให้เด็กปฐมวัย มีความสามารถและมีทักษะ ดังต่อไปนี้

– ได้ทักษะค้นคว้า ค้นหาข้อมูล

– ได้ทดลอง โดยใช้กระบวนการทักษะทางวิทยาศาสตร์

– กระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งสาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กปฐมวัยควรจะต้องเรียนรู้อย่างครอบคลุม ซึ่งประกอบด้วยสาระต่าง  ๆ  ที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ดังต่อไปนี้

สาระเกี่ยวกับพืช 

ได้แก่  พืช  เรื่องที่นำมาเรียนได้แก่  ต้นไม้  ดอกไม้  ผลไม้  การปลูกพืช  การใช้ประโยชน์จากพืช

สาระเกี่ยวกับสัตว์ 

ได้แก่  ประเภทของสัตว์  สวนสัตว์  การเลี้ยงสัตว์

สาระเกี่ยวกับฟิสิกส์ 

ได้แก่  การจม  การลอย  ความร้อน  ความเย็น

สาระเกี่ยวกับเคมี 

ได้แก่  รสผลไม้  การละลายของน้ำแข็ง

สาระเกี่ยวกับธรณีวิทยา 

ได้แก่  ดิน  ทราย  หิน  ภูเขา

สาระเกี่ยวกับดาราศาสตร์ 

ได้แก่  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดาว  ฤดูกาล

            ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ แสดงความเข้าใจและรู้จักดูแลธรรมชาติ เกิดการพัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ผ่านการลงมือปฏิบัติการสำรวจ การสังเกต การตั้งคำถาม และการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ค้นพบ ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ขอแค่คุณครูจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการเด็กก็เพียงพอแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *