พัฒนาการ (Deverlopment) [น./N] ตามความหมายในพจนานุกรมมีความหมายว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” ซึ่งเอามาใช้ในความหมายสำหรับการพัฒนาการของเด็กนั้น หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะและพฤติกรรมในทางที่ดีของตัวบุคคล เพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนา ในแง่ซับซ้อนและยากขึ้นมากกว่าเดิมในอนาคต โดยการพัฒนาสำหรับเด็กนั้นครอบคลุม ทั้งด้านร่างกาย,ด้านอารมณ์และจิตใจ,ด้านสติปัญญา และด้านการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้สามารถปรับการใช้ชีวิตเข้ากับสังคมได้ และออกมากเป็นพลเมืองดีของสังคมในอนาคต 

และเพราะเด็กทุกคนต้องมีการเจริญเติบโตอยู่ทุกวัน ดังนั้นการพัฒนาจึงจะต้องเจริญตามอายุของเด็ก 

โดยคุณครูมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และมีอีกหน้าที่คือการประเมินพัฒนาเด็ก เพื่อดูความพร้อมและปรับปรุงให้เด็กสามารถพัฒนาได้ตรงตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็น โดยเหตุผลที่ทำไมถึงควรประเมินพัฒนาการเด็กมีด้วยกันดังนี้ 

การประเมินทำให้เรารู้จักตัวเด็ก 

การประเมินการพัฒนาการของเด็ก ทำให้คุณครูได้รู้ว่าตัวตนเด็กเป็นเช่นไร เพราะการประเมินนั้นจะใช้การสังเกตของผู้สอน และการทำตามเกณฑ์ประเมินว่าผ่านการประเมินหรือไม่ เมื่อรู้จักตัวตนของเด็กผ่านการประเมินและคลุกคลีกับตัวเด็กแล้วก็จะรู้จุดที่ควรจะปฏิบัติกับเด็กอย่างไร รู้ถึงความคิดและจิตใจของเด็ก และปรับตัวเข้ากับเด็กเพื่อให้เด็กพร้อมและไว้ใจคุณครู เพื่อที่จะรับการอบรมสั่งสอนเพื่อพัฒนาตัวเองนั่นเอง 

การประเมินทำให้เรารู้ว่าต้องส่งเสริมเด็กด้านไหน 

การประเมินพัฒนาการของเด็กตามหลักสูตรปฐมวัยที่ได้กำหนดไว้นั้น จะทำให้เห็นว่าต้องส่งเสริมเด็กทางด้านไหนบ้าง หากจุดใดที่เด็กยังไม่ผ่านการประเมินเราก็ส่งเสริมให้เขา สามารถทำไปถึงจุดนั้นได้ หรือถ้าพัฒนาการด้านใดของเด็กที่มีการพัฒนาการที่ดี ยกตัวอย่างเช่น พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กนั้นมีความโดดเด่น ก็สนับสนุนให้เขาได้ใช้ความสามารถทางด้านนี้ โดยควบคู่ไปกับการพัฒนาส่วนที่เหลือให้ผ่านเกณฑ์ 

การประเมินทำให้เรารู้ถึงจุดที่ต้องแก้ไขในตัวเด็ก 

หลังจากการประเมินพัฒนาการของเด็กตามหลักสูตรปฐมวัยจะทำให้เห็นถึงจุดที่ต้องแก้ไขของตัวเด็ก เมื่อพบจุดบกพร่องที่เด็กไม่สามารถพัฒนาต้องส่วนนั้นได้คุณครูและผู้ปกครองอาจจะต้องปรึกษากัน เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและหาทางแก้ไขเพื่อร่วมมือกันพัฒนาในส่วนพัฒนาการของเด็กที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยจุดของการแก้ไขนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการร่วมมือทุกส่วนเพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาให้เด็กได้มีทักษะในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น 

การประเมินทำให้เด็กมีแรงใจในการพัฒนามากขึ้น 

เด็กบางคนเมื่อรับรู้ผลการประเมินพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ของตนแล้ว จะเกิดความรู้สึกที่อยากจะพัฒนาต่อไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งคุณครูต้องสังเกตพฤติกรรมนี้ของพวกเขา หากรู้สึกว่าเขากระตือรือร้นในการอยากพัฒนา หรือขอคำปรึกษากับคุณครูสำหรับการพัฒนาด้านต่าง ๆ คุณครูควรที่จะให้คำปรึกษาและสนับสนุนพวกเขา โดยการทำแบบนี้จะช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจได้ส่วนหนึ่ง เพราะเด็กรู้สึกมีแรงใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อตัวเอง 

การประเมินพัฒนาการเด็กทำให้ครูรู้ถึงการทำหน้าที่ของตัวเอง 

แน่นอนว่าการประเมินพัฒนาการเด็กนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อเด็กเพียงอย่างเดียว แต่การทำประเมินนั้นยังทำให้รู้ถึงศักยภาพและการอบรมให้ความรู้ของครูที่มีต่อเด็กปฐมวัย โดยทั้งนี้คุณครูเองก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อที่จะสามารถดูแลการพัฒนาของเด็ก ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง และนำผลการพัฒนาเด็กที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์มาทบทวน และแก้ไขการสอนของตนให้สามารถเข้าได้กับเด็กทุกคน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเด็กในรุ่นถัดไป 

เห็นได้ชัดว่า “การประเมินพัฒนาการเด็ก” เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่คุณครูหรือผู้สอนปฐมวัยต้องทำ เพราะไม่เพียงแค่เพื่อส่งผลประเมินตามหน้าที่หรือคำสั่งของสถานศึกษาเท่านั้น แต่การประเมินยังสามารถทำให้คุณครูได้พัฒนาตัวเองและเด็ก ให้ก้าวไปข้างหน้าในอนาคตได้ดียิ่งกว่าเดิม 

และเพราะการประเมินผลมักมาพร้อมกับจุดประสงค์และความคาดหวังที่จะได้เห็นพัฒนาการที่ดีของเด็ก ให้ครบทุกด้าน ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรปฐมวัย ดังนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ตรงเป้าหมาย ครูผู้สอนต้องหมั่นใส่ใจตัวเด็ก มีจุดส่งเสริม รู้ถึงปัญหาและการหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีและมีความพร้อมที่จะรับการศึกษาเรียนรู้ในระดับการศึกษาถัดไปที่จะยากและซับซ้อนกว่าเดิม 

สำหรับครั้งหน้า “รัฐกุล” จะมีความรู้ดี ๆ เรื่องใดเกี่ยวกับการสอนปฐมวัยมาฝากทุกท่านอีก 

สามารถกดติดตามแฟนเพจของรัฐกุลในช่องทาง Facebook และรอติดตามได้ทางหน้าเว็บไซต์เช่นเคยค่ะ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *