กิจกรรมชวนเล่น เพิ่มทักษะการเคลื่อนไหวเด็กปฐมวัย

การเล่นและเคลื่อนไหว จัดเป็นพฤติกรรมที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย  โดยเด็กธรรมชาติของเด็ก ๆ ในวัยนี้จะชอบเล่น ซึ่งการเล่นและการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการด้านร่างกาย เด็กจะได้พัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย  การได้ใช้ประสาทสัมผัสและร่างกายสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ จะทำให้เด็กเกิดการพัฒนาด้านร่างกายในส่วนของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานของระบบประสาทกับกล้ามเนื้อในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อบริเวณ แขน ขา ลำตัว รวมไป อวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว 

กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือจนถึงปลายนิ้วมือ ทำหน้าที่ในการกด นวด ขยำ หยิบ จับ สิ่งของต่าง ๆ 

การประสานงานของระบบประสาทกับกล้ามเนื้อในการทำงาน คือ ระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว และกล้ามเนื้อการหายใจ ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสัมพันธ์กัน 

แนวทางการจัดกิจกรรมการเล่นและเคลื่อนไหวสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3 – 5 ปี

สำหรับเด็กในวัยนี้ จะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น มีการพัฒนาของร่างกายที่เพิ่มมากขึ้น จะเริ่มเคลื่อนไหวในท่าทางที่ยากมากขึ้น สามารถเดิน วิ่ง กระโดดได้ดี จึงควรจัดกิจกรรมการเล่นที่หลากหลาย เน้นความสนุกสนาน เน้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น คลาน ยืน เดิน วิ่ง กระโดด ขว้าง ปีนป่าย ไม่เน้นให้เล่นในรูปแบบการฝึกฝนหรือเล่นกีฬาที่มีกติกาหรือเน้นผลแพ้ชนะ โดยจะต้องมีอุปกรณ์การเล่นที่ส่งเสริมความปลอดภัยของเด็ก เอื้อให้เด็กเล่นอย่างสนุกสนาน ในสถานที่ที่เหมาะสม ภายใต้การดูแลของคุณครูปฐมวัย

การส่งเสริมการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผ่านการเล่นและการเคลื่อนไหว ควรจะให้มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้วยระดับความหนักของกิจกรรมแบบปานกลางหรือแบบหนัก อย่างน้อยวันละ 180 นาที ซึ่งในช่วง 180 นาทีนี้ไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมการเล่นติดต่อกันตลอด แต่แบ่งช่วงในกระจายตลอดทั้งวันก็ได้ 

กิจกรรมทางกายระดับปานกลาง คือ กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง โดยระหว่างที่ทำกิจกรรมยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ เช่น การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน เป็นต้น

กิจกรรมทางกายระดับหนัก คือ กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างที่ทำกิจกรรมไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ เช่น การวิ่ง การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา เป็นต้น

ตัวอย่างกิจกรรมการเล่นและเคลื่อนไหวสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3 5 ปี

กิจกรรมวิ่งฝึกกำลัง

วิธีการเล่น : คุณครูปฐมวัยให้เด็กอนุบาลวิ่งจากจุดเริ่มต้นไปยังเส้นชัย ในระยะทางที่กำหนด 10 เมตร  โดยจะต้องวิ่งบนพื้นเรียบ ไม่ขรุขระ

ประโยชน์ที่ได้รับ : ช่วยพัฒนาระบบหายใจและไหลเวียนเลือด ช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรง และความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อขา

กิจกรรมวิ่งอ้อมกรวย

วิธีการเล่น : คุณครูปฐมวัยให้เด็กอนุบาลวิ่งจากจุดเริ่มต้นอ้อมกรวยซ้ายและขวา ไปจนถึงเส้นชัย โดยกรวยแต่ละอันห่างกันประมาณ 60 – 70 เมตร

ประโยชน์ที่ได้รับ : ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กปฐมวัย ทั้งในด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และด้านการทรงตัว

กิจกรรมกระโดดให้ถึงเส้นชัย

วิธีการเล่น : คุณครูปฐมวัยให้เด็กอนุบาลกระโดดไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องกันจนถึงเส้นชัย โดยจะกระโดดขาเดียวหรือกระโดดทั้งสองขาก็ได้

ประโยชน์ที่ได้รับ : ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กปฐมวัย ทั้งในด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ด้านการทรงตัว และพลังของกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว

กิจกรรมวางไข่ในตะกร้า

วิธีการเล่น : คุณครูปฐมวัยวางตะกร้าเรียงกันเป็นแถว แล้วให้เด็กอนุบาลจับลูกบอลโยนใส่ตะกร้า โดยมีระยะห่างจากจุดยืนประมาณ 1.50 – 2.50 เมตร

ประโยชน์ที่ได้รับ : ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กปฐมวัยทั้งในส่วนของประสาทสัมผัส การมอง การวัดระยะ และการพัฒนากล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อไหล่

กิจกรรมเตะลูกบอลให้เข้าประตู

วิธีการเล่น : คุณครูปฐมวัยให้เด็กอนุบาลเตะลูกบอลให้เข้าประตู โดยมีระยะเตะจุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากประตูประมาณ 1.50 – 3 เมตร

ประโยชน์ที่ได้รับ : ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กปฐมวัย ทั้งในส่วนของประสาทสัมผัส การมอง การวัดระยะ และช่วยพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา

การเล่นและเคลื่อนไหวนอกจากจะส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กปฐมวัยแล้ว  ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญดังต่อไปนี้

1.ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

2.ส่งเสริมให้เด็กรู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่น

3.ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตนเอง

4.ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์

5.ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น

ในระหว่างที่เด็ก ๆ ได้เล่น ได้เคลื่อนไหว ได้ทำกิจกรรมทางกาย คุณครูปฐมวัยสามารถใช้โอกาสนี้ ดูและสังเกต เพื่อการประเมินพัฒนาการเด็ก โดยนำไปสรุปลงในแบบประเมินพัฒนาการเด็ก สมุดรายงานประจำตัวเด็กปฐมวัย  สามารถสังเกตพัฒนาการด้านร่างกายและการเจริญเติบโตของเด็กได้จากการแสดงออก  โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการกระทำกับวัตถุ เช่น การเล่นบอล  เด็กต้องใช้ความสามารถของด้านสายตาและกล้ามเนื้อ  ซึ่งต้องสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองและการเคลื่อนไหวประกอบกัน

คุณครูปฐมวัยควรประเมินพัฒนาการเด็กเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดปี จะเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวหน้าตามศักยภาพ  และจะต้องนำข้อสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก ๆ มาบันทึกลงในสมุดพกเด็กปฐมวัย เพื่อส่งต่อให้ผู้ปกครองรับทราบต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *