10 แนวทางสุดเจ๋ง สำหรับการวางแผนจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย-1 หจก.รัฐกุล เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง เอกสารการประเมินพัฒนาการเด็กระดับปฐมวัย สื่อการเรียนการสอนตามหน่วยการจัดประสบการณ์ รวมไปถึง หนังสือซีดี และอื่นๆ

การพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กวัยอนุบาล นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ตามที่ได้ระบุไว้ในปรัชญาการศึกษาระดับปฐมวัย ปี 2560 ไว้ว่า…การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวม บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

เรียกได้ว่าเด็กในช่วงปฐมวัย ถือเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปูพื้นฐานทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็กเพื่อให้มีความพร้อม โดยคุณครูปฐมวัยจะต้องดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเด็กเล็กให้มีความพร้อมทั้งด้านทักษะ ความสามารถ และอารมณ์ เพื่อที่จะสามารถรับมือกับการศึกษาในระดับสูงต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับในการศึกษาระดับปฐมวัย  จะเน้นการพัฒนาเด็ก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเมื่อเด็กจบการศึกษาระดับปฐมวัย ดังนี้

1. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขนิสัยที่ดี

2. สุขภาพจิตดี มีคุณธรรม จริยธรรมและจิตใจที่ดีงาม

3. มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับวัย ดำรงชีวิตประจำวันโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีวินัย และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

4. มีทักษะการคิด การใช้ภาษาสื่อสาร และการแสวงหาความรู้ได้เหมาะสมกับวัยเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเต็มที่ การวางแผนจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กวัยอนุบาล จะเน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่นด้วยการปฏิบัติจริงโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะ และเจตคติ ในการเรียนรู้ ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา

10 แนวทาง สำหรับการวางแผนจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยตามที่หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ปี 2560 แนะนำ มีดังนี้

  • จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการและการทำงานของสมอง ที่เหมาะสมกับอายุ วุฒิภาวะ และระดับพัฒนาการเพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ
  • จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับแบบการเรียนรู้ของเด็ก เด็กได้ลงมือกระทำ เรียนรู้ผ่าน ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้เคลื่อนไหว สำรวจ เล่น สังเกต สืบค้น ทดลอง 
  • จัดประสบการณ์แบบบูรณาการ โดยบูรณาการทั้งกิจกรรม ทักษะ และคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองและสาระการเรียนรู้
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กได้คิดริเริ่ม วางแผน ตัดสินใจ ลงมือกระทำและนำเสนอความคิด โดยคุณครูปฐมวัยเป็นผู้สนับสนุน อำนวยความสะดวก และเรียนรู้ร่วมกับเด็ก
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่น กับผู้ใหญ่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ การเรียนรู้ในบรรยากาศที่อบอุ่น มีความสุขและเรียนรู้การทำกิจกรรมแบบร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ และแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยจะต้องเป็นสื่อที่ใกล้ตัวเด็ก สอดคล้องกับบริบท สังคม และวัฒนธรรมที่แวดล้อมเด็ก
  • จัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีและทักษะการใช้ชีวิตประจำวันตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และการมีวินัย ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • จัดประสบการณ์ทั้งในลักษณะที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและแผนที่เกิดขึ้นในสภาพจริงโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้
  • จัดทำสารนิทัศน์ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล นำมาไตร่ตรองเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเด็กและการวิจัยในชั้นเรียน
  • จัดประสบการณ์โดยให้พ่อแม่ ครอบครัว และชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งการวางแผน การสนับสนุนสื่อ แหล่งเรียนรู้ การเข้าร่วมกิจกรรม และการประเมินพัฒนาการ

ดังนั้น การจัดกิจกรรมจะต้องครอบคลุมประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และควรยืดหยุ่นปรับไปตามสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เด็กปฐมวัยให้ความสนใจ ให้เด็กลงมือปฏิบัติจริงอย่างสร้างสรรค์ กำหนดกิจกรรมให้เด็กโดยยึดเด็กเป็นสำคัญเพื่อพัฒนาเด็กโดยองค์รวม นอกจากนี้คุณครูปฐมวัยผู้สอนก็ควรจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจในหลักการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *